Forgot your password? Create an account
  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
News

Stockwave Online กระแสหุ้นออนไลน์ หุ้น หลักทรัพย์ การเงิน ข่าวเศรษฐกิจ

Home Economic View สรุปประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจและการเงินรายวัน - ธ.ซีไอเอ็มบี ไทย
สรุปประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจและการเงินรายวัน - ธ.ซีไอเอ็มบี ไทย PDF Print E-mail
Monday, 31 August 2015 09:04

Snapshot

 

สหรัฐอเมริกา

- นายสแตนเลย์ ฟิชเชอร์ รองประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ระบุว่า ขณะนี้นับว่ายังเร็วเกินไปที่จะพูดได้ว่า Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนหน้าหรือไม่ โดยเขากล่าวว่า ก่อนหน้านี้ Fed มีแนวโน้มสูงขึ้นที่จะปรับอัตราดอกเบี้ย แต่เมื่อจีนประกาศลดค่าเงินหยวนในวันที่ 11 สิงหาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้ตลาดทุนและการเงินทั่วโลกผันผวน และด้วยปัจจัยดังกล่าวทำให้ Fed ต้องพิจารณาถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ดี ก็ระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังปรับตัวไปได้ดีในขณะนี้ และ Fed ยังมีเวลาอีกมากในการตัดสินใจก่อนที่จะถึงการประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 16-17 ก.ย. และมั่นใจว่า อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่อยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานานจะสามารถฟื้นตัวสู่เป้าหมาย เนื่องจากปัจจัยที่กดดันราคาได้ลดน้อยลงไปแล้ว

- นายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed)สาขาเซนต์หลุยส์ กล่าวว่า กรรมการ Fed จะไม่เปลี่ยนแปลงมุมมองเกี่ยวกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ แม้ว่าตลาดการเงินจะมีความผันผวนอย่างมากในระยะนี้ โดยได้ย้ำถึงความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งได้แก่การขยายตัวถึง 3.7% ในไตรมาส 2 จะช่วยชดเชยความวิตกกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจจีน และภาวะความปั่นป่วนในตลาดการเงิน โดยย้ำว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงมีปัจจัยพื้นฐานที่ดี และมีแนวโน้มการขยายตัวที่สดในในครึ่งปีหลัง พร้อมระบุว่า ยังเชื่อว่าความผันผวนที่เกิดขึ้นในระยะนี้จะไม่กระทบต่อปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจสหรัฐฯ

- นางลอเรตตา เมสเตอร์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed)สาขาคลีฟแลนด์ ระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีความพร้อมสำหรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น ทั้งนี้ คำกล่าวดังกล่าว สอดคล้องกับมุมมองก่อหน้านี้ที่ระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะสามารถปรับตัวรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้

- นายนารายา โคเซอร์ลาโคตา ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed)สาขาใยเยอสโพลิส กล่าวแสดงความเห็นว่า Fed ยังไม่ควรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ นอกจากจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ นอกจากนี้ ยังระบุว่า อาจจะต้องใช้เวลาหลายปีกว่าที่อัตราเงินเฟ้อจะกลับสู่เป้าหมายของ Fed ที่ระดับ 2% พร้อมแนะว่า Fed ต้องออกมาตรการกระตุ้นอื่นๆ มากระตุ้นเศรษฐกิจ

- การใช้จ่ายของผู้บริโภคในเดือนกรกฎาคมเพิ่มขึ้น 0.3% (m-o-m) จากที่เพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนพฤษภาคม โดยได้รับแรงหนุนจากค่าจ้าง ซึ่งบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มขยายตัว ขณะที่รายได้ส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น 0.4% ขณะที่อัตราการออมอยู่ที่ระดับ 4.9% เพิ่มขึ้นจาก 4.7% ในเดือนมิถุนายน

- ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นสุดท้ายที่จัดทำโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกนในเดือนสิงหาคมลดลงสู่ระดับ 91.9 ต่ำกว่าตัวเลขเบื้องต้นที่ระดับ 92.9 และต่ำกว่าระดับ 93.1 ของเดือนกรกฎาคม อันเป็นผลมาจากภาวะความผันผวนในตลาดหุ้นซึ่งเกี่ยวข้องกับภาวะเศรษฐกิจจีน โดยดัชนีภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 105.1 จากตัวเลขเบื้องต้นที่ระดับ 107.1 ขณะที่ดัชนีคาดการณ์เศรษฐกิจในอนาคตลดลงสู่ระดับ 83.4 จากระดับ 83.8 ด้านดัชนีคาดการณ์ภาวะเงินเฟ้อในระยะ 1 ปี ทรงตัว 2.8% ในเดือนสิงหาคม

 

ยุโรป : เยอรมนี

- คณะกรรมาธิการยุโรปรายงานว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจรายเดือนในเดือนสิงหาคมเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 104.2 จากระดับ 104.0 ในเดือนกรกฎาคม สูงกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ระดับ 103.8  และเป็นระดับสูงสุดใหม่ในรอบ 4 ปี โดยความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นในทุกภาคส่วนยกเว้นภาคอุตสาหกรรม และความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นเป็นพิเศษในฝรั่งเศส และสเปน

- นายเบนัวท์ เคอร์ สมาชิกคณะกรรมการบริหารของธนาคารกลางยุโรป (ECB) กล่าวว่า กลไกทางการเมืองที่มีข้อบกพร่องในยุโรปส่งผลให้ยูโรโซนเผชิญกับวิกฤติซ้ำเดิมหลายครั้ง และแนวคิดเรื่องการขับไล่สมาชิกประเทศใดประเทศหนึ่งออกจากยูโรโซนถือเป็นแนวคิดที่เลวร้ายที่จะเป็นการทำลายเสถียรภาพของยูโรโซน พร้อมระบุว่า ด้วยเหตุนี้การใช้สกุลเงินยูโรจึงเป็นสิ่งที่ไม่สามารถย้อนกลับได้ ก่อนหน้านี้ นายมาริโอ ดรากี ประธาน ECBเคยกล่าวย้ำหลายครั้งว่า ยูโรเป็นสิ่งที่ไม่สามารถย้อนกลับได้ อย่างไรก็ดี วิกฤติหนี้กรีซสั่นคลอนความเชื่อมั่นในเรื่องนี้ และสั่นคลอนความสามารถของ ECB ในการรักษาเสถียรภาพของยูโรโซน

 

กรีซ

- สำนักงานสถิติของกรีซรายงานว่า เศรษฐกิจกรีซในไตรมาส 2/2015 ขยายตัว 0.9% (q-o-q) สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์เบื้องต้นที่ 0.8%  และเมื่อเทียบรายปี  GDPขยายตัว 1.6% ในไตรมาส 2 เทียบกับตัวเลขคาดการณ์ก่อนหน้านี้ที่ 1.4% ทั้งนี้ ข้อมูลดังกล่าวยืนยันว่า เศรษฐกิจของกรีซไม่ได้เผชิญภาวะถดถอยอีกครั้งในปีนี้ แม้เกิดสถานการณ์วุ่นวายทางการเมืองก็ตาม

 

เอเชีย: จีน

- ผลกำไรของบริษัทภาคอุตสาหกรรมของจีนลดลง 2.9% ในเดือนก.ค.จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วซึ่งตอกย้ำถึงภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ผลกำไรภาคอุตสาหกรรมลดลงมากที่สุดเป็นอันดับ 2 นับตั้งแต่ที่ลดลงรวม 4.2% ในเดือนม.ค.- ก.พ. ขณะที่ผลกำไรลดลง 1% ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

- นายหยู จวิน รมช.ทรัพยากรมนุษย์และสวัสดิการสังคมของจีนเปิดเผยว่า กองทุนบำเหน็จบำนาญของจีนจะเริ่มการลงทุน 2 ล้านล้านหยวน (3.1305 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ในหุ้นและสินทรัพย์อื่นๆโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ จีนเปิดเผยในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่าจะอนุญาตให้กองทุนบำเหน็จบำนาญสามารถลงทุนในตลาดหุ้นได้เป็นครั้งแรก ซึ่งอาจจะทำให้มีเม็ดเงินนับแสนล้านหยวนเข้าสู่ตลาดหุ้นที่กำลังย่ำแย่ของจีน

 

ญี่ปุ่น

- อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของผู้บริโภคญี่ปุ่นอยู่ที่ 0.0% ต่อปีในเดือนก.ค. และปริมาณการจับจ่ายใช้สอยภาคครัวเรือนของญี่ปุ่นลดลงอย่างพลิกความคาดหมาย โดยรายงานตัวเลขนี้ทำให้นักลงทุนไม่เชื่อมั่นในการคาดการณ์ของธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ที่ว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างแข็งแกร่งจะช่วยหนุนอัตราเงินเฟ้อให้พุ่งขึ้นสู่ระดับเป้าหมายที่ 2% ถึงแม้บีโอเจเคยระบุว่า บีโอเจจะมองข้ามผลกระทบที่อัตราเงินเฟ้อได้รับจากการดิ่งลงของราคาน้ำมัน ตัวเลขเศรษฐกิจที่อ่อนแอก็จะกดดันบีโอเจให้ขยายขนาดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกไป รัฐบาลญี่ปุ่นรายงานว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) พื้นฐาน ซึ่งครอบคลุมราคาผลิตภัณฑ์น้ำมัน แต่ไม่ครอบคลุมราคาอาหารสดที่มีความผันผวนสูงเปลี่ยนแปลง 0.0% ต่อปีในเดือนก.ค. ในขณะที่ตลาดเคยคาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า ดัชนี CPI พื้นฐานอาจลดลง 0.2% ในเดือนก.ค.

 

ไทย

- ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ผ่อนคลายหลักเกณฑ์เพิ่มเติมให้นักลงทุนรายย่อยและนิติบุคคลของไทย ออกไปลงทุนโดยตรงในหลักทรัพย์ต่างประเทศเพื่อสนับสนุนการกระจายความเสี่ยงในการลงทุน โดยจะเริ่มมีผลในปี 2559 ธปท.จะเปิดให้นักลงทุนรายย่อยที่มีสภาพคล่องเกิน 100 ล้านบาท และ นิติบุคคลที่มีสินทรัพย์ 1-5 พันล้านบาท ลงทุนโดยตรงในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้ปีละไม่เกิน 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 59 เป็นต้นไป ขณะเดียวกันจะเปิดให้นักลงทุนรายย่อยทั่วไปออกไปลงทุนโดยตรงในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้ปีละไม่เกิน 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐตั้งแต่ปี 60 เป็นต้นไป  การผ่อนคลายให้ผู้ลงทุนรายย่อยลงทุนในต่างประเทศได้โดยตรงในต่างประเทศครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของแผนแม่บทเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศระยะที่ 2 ซึ่งจะดำเนินการในช่วงปี 58-60 ในช่วงแรกหลังการผ่อนคลายเกณฑ์ดังกล่าวมีผลบังคับใช้ธนาคารแห่งประเทศไทยคาดว่าจะไม่มีเงินทุนไหลออกไปมากนัก และธปท.มั่นใจว่าจะรับมือกับการไหลออกของเงินทุน รวมถึงความเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยน หลังเริ่มใช้เกณฑ์เงินทุนเคลื่อนย้ายดังกล่าวได้  โดยจากข้อมูลของธปท.ในขณะนี้ ผู้มีเงินฝากเกิน 100 ล้านบาท  มีอยู่ราว 3 พันรายเท่านั้น โดยคาดว่าในช่วงแรก นักลงทุนจะออกไปลงทุนโดยหวังผลเรื่องส่วนต่างของดอกเบี้ยก่อนเป็นอันดับแรก หลังจากนั้นอาจจะขยับไปลงทุนในเรื่องส่วนต่างของอัตราแลกเปลี่ยนเป็นอันดับต่อไป

- นางผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ  รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท. กล่าวในการแถลงข่าวว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังเป็นเครื่องมือหลักในการดูแลเศรษฐกิจของ ธปท. แต่ก็ยอมรับว่าประสิทธิผลของการใช้อัตราดอกเบี้ยต่อเศรษฐกิจเริ่มมีน้อยลง และอัตราดอกเบี้ยนโยบายในขณะนี้ใกล้ถึงจุดต่ำสุดที่จะสามารถลดได้แล้ว ขณะที่ในระยะต่อไปจะมีการพิจารณาลดดอกเบี้ยหรือไม่นั้นก็จะต้องพิจารณาถึงประสิทธิผลของอัตราดอกเบี้ยต่อเศรษฐกิจด้วย ขณะที่เงินบาทที่อ่อนค่าลงในปัจจุบันว่าสะท้อนภาพการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยและถือว่าสอดคล้องกับพื้นฐานทางเศรษฐกิจในขณะนี้ โดยเงินบาทที่อ่อนค่าราว 8% ตั้งแต่ต้นปีไม่ถือว่าอ่อนค่ามากเกินไปเมื่อเทียบกับพื้นฐานทางเศรษฐกิจไทย และเทียบกับประเทศอื่นๆ ขณะเดียวกันเงินบาทที่อ่อนค่าลงในปัจจุบันมีส่วนช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ เนื่องจากผู้ส่งออกจะได้รับเงินเป็นรูปเงินบาทเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการมีสภาพคล่องที่จะดูแลธุรกิจได้มากขึ้น แต่อาจจะไม่สามารถช่วยทำให้มูลค่าการส่งออกในรูปของดอลลาร์สหรัฐฯเพิ่มขึ้นได้มากนัก

- สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ก.ค.ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน โดยลดลง 5.3%จากช่วงเดียวกันปีก่อน เทียบกับที่ลดลง 7.7% ในเดือนมิ.ย.

- สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ยังคงคาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) ปี 58 เติบโตในระดับ 3% โดยหวังว่าจะได้รับแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่กำลังจะออกมาในเร็วๆนี้  สศค.ประเมินด้วยว่าเหตุระเบิดที่บริเวณแยกราชประสงค์เมื่อส้ปดาห์ที่แล้ว จะส่งผลให้นักท่องเที่ยวหายไปราว 3 แสนคน ซึ่งจะกระทบจีดีพีประมาณ  0.05% เมื่อปลายเดือนก่อน สศค.ปรับลดคาดการณ์จีดีพีของไทยในปี 58 เป็นเติบโต 3.0% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 3.7% หลังคาดการณ์ว่าส่งออกในปีนี้ จะหดตัว 4.0% จากก่อนหน้านั้นที่คาดขยายตัว 0.2% ซึ่งเป็นผลจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวช้า โดยเฉพาะจีน

 

Money Market

- บาท/ดอลลาร์ วันศุกร์ (  28 สค.) เงินบาทอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯในวันนี้สอดคล้องกับหลายสกุลเงินในภูมิภาคที่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯหลังจากที่ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯที่รายงานออกมาเมื่อคืนนี้ออกมาดี เช่นจีดีพีสหรัฐฯขยายตัว 3.7% ต่อปีในไตรมาส 2 โดยปรับขึ้นจากระดับ 2.3% ต่อปีที่เคยรายงานไว้ในเดือนที่แล้วและอยู่สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ที่ 3.2% ต่อปี ทั้งนี้แม้ความเป็นไปได้ในการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนกันยายนปีนี้ลดลงจากที่คาดไว้ก่อนหน้านี้เนื่องจากความกังวลเรื่องเศรษฐกิจจีนแต่การที่เศรษฐกิจสหรัฐฯฟื้นตัวต่อเนื่องก็ทำให้มีแนวโน้มสูงที่ธนาคารสหรัฐฯจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในไม่ช้าและทำให้ดอลลาร์สหรัฐฯมีแนวโน้มแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินบาทและสกุลเงินอื่นๆในเอเซีย ขณะเดียวกันวันนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ผ่อนคลายหลักเกณฑ์เพิ่มเติมให้นักลงทุนรายย่อยและนิติบุคคลของไทย ออกไปลงทุนโดยตรงในหลักทรัพย์ต่างประเทศเพื่อสนับสนุนการกระจายความเสี่ยงในการลงทุนโดยจะเริ่มมีผลในปี 2559 ซึ่งการผ่อนคลายเงินทุนเคลือนย้ายมากขึ้นของไทยเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะหนุนให้เงินบาทอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์

สหรัฐฯ

- เยน/ดอลลาร์ วันศุกร์ (28 ส.ค.) เงินเยนอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯในช่วงเช้าวันนี้ จากปัจจัยเรื่องแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ฟื้นตัวดีกว่าญี่ปุ่นยังหนุนให้ดอลลาร์สหรัฐฯมีแนวโน้มแข็งค่าเมื่อเทียบกับเยนในช่วง 3-6 เดือนข้างหน้า อย่างไรก็ดี ภาวะที่เศรษฐกิจจีนมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นก็ส่งผลให้เงินเยนแข็งค่ามากในบางช่วง

- ยูโร/ดอลลาร์ วันศุกร์ ( 28 ส.ค.) เงินยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯในช่วงเช้าวันนี้ อย่างไรก็ดีการที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯล่าสุดส่วนใหญ่ยังออกมาดีต่อเนื่องทำให้มีแนวโน้มสูงที่ธนาคารกลางสหรัฐฯจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในไม่ช้าซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯในช่วง 3-6 เดือนข้าหน้า โดยยูโรอ่อนค่าในช่วงตลาดสหรัฐฯ

 

Capital Market

- ตลาดสหรัฐฯ วันศุกร์ ( 28 ส.ค.) ดัชนีดาวโจนส์ปิดลบท่ามกลางภาวะการซื้อขายที่ผันผวน หลังจากสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอ รวมถึงตัวเลขการใช้จ่ายผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นน้อยเกินคาด อย่างไรก็ตาม การคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) จะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ได้ช่วยสกัดแรงลบในตลาด ซึ่งส่งผลให้ดาวโจนส์ขยับลงไม่มากนัก โดยดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 16,643.01 จุด ลดลง 0.07% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 1,988.87 จุด เพิ่มขึ้น 0.06% และดัชนี NASDAQ ปิดที่ 4,828.32 จุด เพิ่มขึ้น 0.32%

- ตลาดหุ้นเอเชีย วันศุกร์ (28 ส.ค.) ดัชนีตลาดหุ้นเอเชียส่วนใหญ่สูงขึ้นในวันนี้ตามตลาดหุ้นสหรัฐฯเมื่อคืนนี้หลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯออกมาดี ขณะเดียวกันนักลงทุนจำนวนมากขึ้นก็มองว่าธนาคารกลางสหรัฐฯอาจจะยังไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนกันยายนนี้ โดยดัชนีนิกเกอิปิดตลาดเพิ่มขึ้น 3.03% โดยค่าเงินเยนที่กลับมาอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯส่งผลบวกต่อกลุ่มส่งออกของญี่ปุ่น อย่างไรก็ดีรายงานเศรษฐกิจญี่ปุ่นล่าสุดก็ยังคงชี้ถึงความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจรวมถึงโอกาสในการที่จะบรรลุเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อ 2% ของธนาคารกลางญี่ปุ่น โดยวันนี้รัฐบาลญี่ปุ่นรายงาน ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน เปลี่ยนแปลง 0.0% ต่อปีในเดือนก.ค. สำหรับดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตวันนี้ปิดตลาดเพิ่มขึ้น 4.90% โดยนักลงทุนคาดการณ์ว่าทางการจีนจะมีมาตรการใหม่ในการพยุงตลาดหุ้น ขณะที่ทางการจีนชี้ว่ากองทุนบำเหน็จบำนาญของจีนจะเริ่มการลงทุนในหุ้นและสินทรัพย์อื่นๆโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ อย่างไรก็ดีโดยภาพรวมตลาดหุ้นจีนยังไม่มีปัจจัยบวกมากนัก โดยล่าสุดรายงานกำไรของบริษัทภาคอุตสาหกรรมของจีนลดลง 2.9% ในเดือนก.ค.จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

- ตลาดหุ้นไทย วันศุกร์ ( 28 ส.ค.) ดัชนีตลาดหุ้นไทยเปิดตลาดสูงขึ้นตามทิศทางตลาดหุ้นเอเชียส่วนใหญ่อย่างไรก็ดีหลังจากนั้นดัชนีได้ปรับตัวลดลง โดยภาวะความเชื่อมั่นในการลงทุนในตลาดหุ้นยังถูกกดันจากการที่เศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวช้า ขณะที่วันนี้รายงานดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือน ก.ค.ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน โดยลดลง 5.3%จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้ปิดตลาดวันนี้ SET INDEX เพิ่มขึ้น 7.91จุด

 

โดย สำนักวิจัยธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ประจำวันที่ 31 ส.ค. 2558

Comments

B
i
u
Quote
Code
List
List item
URL
Name *
Code   
ChronoComments by Joomla Professional Solutions
Submit Comment
 
 

Login

Forgot your password? Create an account
mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterToday4096
mod_vvisit_counterYesterday34804
mod_vvisit_counterAll days167331674

We have: 200 guests online
Your IP: 3.142.135.86
Mozilla 5.0, 
Today: Apr 20, 2024

7485200