Forgot your password? Create an account
  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
News

Stockwave Online กระแสหุ้นออนไลน์ หุ้น หลักทรัพย์ การเงิน ข่าวเศรษฐกิจ

Home Economic View สรุปประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจและการเงินรายวัน - ธ.ซีไอเอ็มบี ไทย
สรุปประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจและการเงินรายวัน - ธ.ซีไอเอ็มบี ไทย PDF Print E-mail
Friday, 03 June 2016 10:46

Snapshot

 

สหรัฐอเมริกา

ยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายใหม่ในสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 28 พฤษภาคม ลดลง 1,000 ราย สู่ระดับ 267,000 ราย ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า ยอดผู้ขอสวัสดิการว่างงานฯ จะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 270,000 ราย ทั้งนี้ ยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายใหม่ได้อยู่ต่ำกว่า 300,000 ราย เป็นสัปดาห์ที่ 65 ติดต่อกัน ซึ่งยาวนานที่สุดนับตั้งแต่ปี 1973 ส่วนตัวเลขยอดผู้ขอสวัสดิการว่างงานฯ เฉลี่ยแบบถ่วงน้ำหนักเคลื่อนที่ 4 สัปดาห์ ซึ่งถือเป็นมาตรวัดตลาดแรงงานที่ดีกว่า เนื่องจากขจัดความผันผวนรายสัปดาห์ ลดลง 1,750 ราย สู่ 276,500 รายในสัปดาห์ที่แล้ว สำหรับยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานต่อเนื่องมีจำนวนเพิ่มขึ้น 12,000 ราย สู่ระดับ 2.17 ล้านราย ในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 21 พฤษภาคม

Automatic Data Processing Inc.(ADP) รายงานว่า การจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐประจำเดือนพฤษภาคมเพิ่มขึ้น 173,000 ตำแหน่ง ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 175,000 ตำแหน่ง แต่ ADP ได้ทบทวนปรับเพิ่มตัวเลขการจ้างงานในเดือนเมษายนสู่ระดับ 166,000 ตำแหน่ง ทั้งนี้ ภาคบริการมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 175,000 ตำแหน่ง ส่วนภาคการผลิตมีการจ้างงานลดลง 2,000 ตำแหน่ง

นายโรเบิร์ต แคปแลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) สาขาดัลลัส กล่าวย้ำมุมมองว่า Fed ควรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในไม่ช้า เนื่องจากเศรษฐกิจกำลังมีการปรับตัวเข้าใกล้ภาวะการจ้างงานเต็มที่ และอัตราเงินเฟ้อกำลังเริ่มที่จะปรับตัวขึ้น อย่างไรก็ดี นายแคปแลนยอมรับว่าเขาไม่มั่นใจว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยควรเกิดขึ้นในเดือนมิ.ย.หรือก.ค. แต่สนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคตอันใกล้ ทั้งนี้ คำกล่าวของนายแคปแลนในครั้งนี้ เป็นการย้ำสิ่งที่เขาพูดในเดือนเมษายนว่า เขาสนับสนุนให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างเร็วที่สุดในเดือนมิ.ย.หรือก.ค.นี้ หากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐมีความแข็งแกร่งตามที่เขาคาดไว้

ตลาดการเงินให้ความสำคัญกับการเปิดเผยข้อมูลการจ้างงานของสหรัฐฯ เพื่อประเมินว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหรือไม่ในการประชุมวันที่ 14-15 มิ.ย. ขณะที่ตัวเลขและดัชนีที่สำคัญทางเศรษฐกิจจะประกาศออกมาได้แก่ข้อมูลการค้าระหว่างประเทศ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการ ยอดสั่งซื้อของโรงงาน

 

ยุโรป: ยูโรโซน

สำนักงานสถิติของสหภาพยุโรป (Eurostat) รายงานว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของยูโรโซนในเดือนเมษายนลดลงลดลง 0.3% เมื่อเทียบรายเดือน และลดลง 4.4% เมื่อเทียบรายปีซึ่งเป็นการลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2009 อันเนื่องมาจากการลดลงอย่างรุนแรงของราคาพลังงาน ขณะที่นักวิเคราะห์ที่ได้รับการสำรวจโดยรอยเตอร์คาดการณ์ไว้โดยเฉลี่ยว่า ดัชนี PPI อาจเพิ่มขึ้น 0.1% เมื่อเทียบรายเดือน และลดลง 4.1% เมื่อเทียบรายปี

 

อังกฤษ

ผลการสำรวจของมาร์กิตระบุว่า จำนวนการก่อสร้างบ้านใหม่ของอังกฤษได้ลดลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2013 จากการที่บริษัทต่างๆได้ชะลอการก่อสร้างโครงการใหม่ๆออกไป เนื่องจากมีความกังวลต่อผลการลงประชามติเกี่ยวกับการถอนตัวของสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ทั้งนี้ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ด้านการก่อสร้างลดลงสู่ระดับ 51.2 จากระดับ 52.0 ในเดือนเมษายน การก่อสร้างที่อยู่อาศัยขยายตัวในอัตราต่ำสุดนับตั้งแต่ต้นปี 2013 ขณะที่การขยายตัวของการก่อสร้างเชิงพาณิชย์ต่ำสุดในรอบเกือบ 3 ปี ภาคการก่อสร้างมีสัดส่วนสูงในระบบเศรษฐกิจอังกฤษ โดยคิดเป็น 5.9% ของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP)

 

อื่นๆ น้ำมัน

การประชุมของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) ซึ่งเสร็จสิ้นลงเมื่อช่วงค่ำวานนี้ตามเวลาไทยนั้น ที่ประชุมไม่สามารถตกลงกันได้เกี่ยวกับการควบคุมราคาและปริมาณน้ำมันในตลาด ทั้งนี้ แถลงการณ์หลังการประชุมโอเปกระบุแต่เพียงว่า ประเทศสมาชิกโอเปกจะใช้ความพยายามต่อไปเพื่อทำให้ตลาดมีเสถียรภาพ โดยไม่ได้ระบุถึงคำมั่นสัญญาที่เป็นรูปธรรม รวมถึงไม่มีการกล่าวถึงการกำหนดเพดานการผลิตน้ำมัน ทั้งนี้ OPEC ได้จัดการประชุมกำหนดนโยบายการผลิตน้ำมัน โดยสมาชิกโอเปกจากอ่าวอาหรับ ซึ่งรวมถึงซาอุดิอาระเบีย กาตาร์ คูเวต และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มีแนวความคิดที่จะให้สมาชิกร่วมมือกันควบคุมการผลิตน้ำมัน อย่างไรก็ดี อิหร่านได้แสดงท่าทีคัดค้านแนวคิดที่จะมีการกำหนดเพดานการผลิตน้ำมัน เหมือนกับที่เคยคัดค้านในการประชุมหลายครั้งก่อนหน้านี้ใหม่

 

เอเชีย: จีน

นายซู กวางเหยา รมช.คลังจีนกล่าวว่า การตัดสินใจเรื่องอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะมีผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจโลก นายซูกล่าวด้วยกว่า จีนและสหรัฐควรเปิดตลาดให้แก่กัน และเพิ่มการประสานงานและความร่วมมือด้านนโยบาย โดยนายซูแสดงความเห็นดังกล่าวก่อนการประชุมด้านกลยุทธ์และเศรษฐกิจระหว่างจีน-สหรัฐซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 6-7 มิ.ย.ในปักกิ่ง

เจ้าหน้าที่ระดับสูงคนหนึ่งในกระทรวงการคลังสหรัฐกล่าวว่า กระทรวงการคลังจะกดดันจีนในการประชุมระดับทวิภาคีในสัปดาห์หน้า เพื่อให้จีนเดินหน้าการทำให้อัตราแลกเปลี่ยนปรับตัวตามตลาด, เพื่อให้จีนปรับลดกำลังการผลิตที่สูงเกินไปในภาคอุตสาหกรรม และเพื่อให้จีนดำเนินการปฏิรูปเพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ นายแจ็ค ลูว์ รมว.คลังสหรัฐจะเดินทางเยือนกรุงปักกิ่งเพื่อเข้าร่วมการประชุมแผนยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจประจำปีระหว่างสหรัฐ-จีนในวันที่ 6-7 มิ.ย. เจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังสหรัฐกล่าวว่า สัญญาณสำคัญที่จะแสดงให้เห็นว่าจีนประสบความสำเร็จแล้วในการทำให้อัตราแลกเปลี่ยนปรับตัวตามตลาดคือการมีความยืดหยุ่นในทั้งสองฝั่งหรือการที่หยวนสามารถพุ่งขึ้นหรือร่วงลงได้ตามแรงผลักดันในตลาด

ซาอุดิอาระเบียและอิหร่าน

กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) จะจัดการประชุมในวันนี้ และเป็นที่คาดกันว่าซาอุดิอาระเบียและอิหร่านจะแสดงความเห็นขัดแย้งกันอีกครั้งในระหว่างการประชุม โดยซาอุดิอาระเบียพยายามจะชักจูงให้หลายประเทศร่วมมือกันในการกำหนดเป้าหมายปริมาณการผลิตน้ำมันอย่างเป็นทางการ แต่อิหร่านปฏิเสธแนวคิดนี้ อิหร่านและซาอุดิอาระเบียเคยขัดแย้งกันมาแล้วในการประชุมกลุ่มโอเปก 2-3 ครั้งก่อนหน้านี้ซึ่งรวมถึงในการประชุมกลุ่มโอเปกในเดือนธ.ค. 2015 ซึ่งถือเป็นการประชุมครั้งแรกในรอบหลายปีที่กลุ่มโอเปกไม่สามารถตกลงกันได้ในเรื่องเป้าหมายการผลิตอย่างเป็นทางการ แหล่งข่าวกล่าวว่าซาอุดิอาระเบียและประเทศพันธมิตรในอ่าวอาหรับจะเสนอให้มีการกำหนดเพดานการผลิตร่วมกัน เพื่อจะได้แก้ไขปัญหาเรื่องอิทธิพลที่ลดลงของกลุ่มโอเปกและเพื่อยุติการแข่งขันกันแย่งชิงส่วนแบ่งตลาด หลังจากการแข่งขันดังกล่าวส่งผลลบต่อราคาน้ำมันและการลงทุนในช่วงที่ผ่านมา แหล่งข่าวกล่าวว่ากลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ (GCC) กำลังพิจารณาการดำเนินการร่วมกันในการประชุมโอเปก โดย GCC ประกอบด้วยซาอุดิอาระเบีย, กาตาร์, คูเวตและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ถ้าหากอิหร่านและซาอุดิอาระเบียตกลงกันได้ในการประชุมครั้งนี้ สิ่งนี้ก็จะสร้างความประหลาดใจเป็นอย่างมากต่อตลาด เพราะว่าสองประเทศนี้ขัดแย้งกันเป็นอย่างมากในช่วงสองปีที่ผ่านมา

 

ไทย:

ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เผยดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจเดือนพ.ค.ที่ 49.7 ทรงตัวจาก 49.8 ในเม.ย. และทรงตัวใกล้ระดับ 50 ติดต่อกันเป็นเดือนที่สอง ถึงแม้เศรษฐกิจจะปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ยังคงกระจุกตัวในบางธุรกิจ ดังนั้นความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจจึงยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ โดยความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม ปรับดีขึ้นเล็กน้อยตามองค์ประกอบด้านผลประกอบการและคำสั่งซื้อในประเทศเป็นสำคัญ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ ในกลุ่มยานยนต์ และกลุ่มผลิตกระดาษและการพิมพ์ ขณะที่ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการภาคบริการ ในกลุ่มธุรกิจที่พักแรม และบริการด้านอาหาร ปรับลดลงตามภาวะการท่องเที่ยว ที่เริ่มเข้าสู่ช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว (low season) ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจใน 3 เดือนข้างหน้า ซึ่งสำรวจในเดือน พ.ค. อยู่ที่ 53.6 โดยผู้ประกอบการส่วนใหญ่ประเมินว่า ภาวะทางธุรกิจจะดีขึ้นจากปัจจุบัน สะท้อนจากดัชนีฯที่อยู่เหนือระดับ 50 และมากกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต อย่างไรก็ดี สัดส่วนของผู้ประกอบการที่ประเมินว่าภาวะทางธุรกิจจะดีขึ้น มีสัดส่วนลดลง และดัชนีฯในเดือนพ.ค. ลงจากระดับ 54.1 ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งสะท้อนถึงความกังวลของภาคธุรกิจ ต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ยังมีอยู่

 

Money Market

- บาท/ดอลลาร์ วันพฤหัส ( 2 มิย.) เงินบาทแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯในวันนี้ต่อเนื่องจากเมื่อวันพุธ ในขณะที่วันนี้ดอลลาร์สหรัฐฯก็อ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินเอเซียส่วนใหญ่สอดคล้องกับดัชนีตลาดหุ้นเอเชียส่วนใหญ่ที่สูงขึ้นในวันนี้ อย่างไรก็ดีนักลงทุนก็จับตาการรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรของสหรัฐฯเดือนพฤษภาคมที่จะประกาศในวันศุกร์นี้ซึ่งหากตัวเลขออกมาดีมากๆก็จะเพิ่มโอกาสในการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในไม่กี่เดือนข้างหน้านี้และจะเป็นปัจจัยที่หนุนดอลลาร์สหรัฐฯให้มีแนวโน้มแข็งค่า

- เยน/ดอลลาร์ วันพฤหัส ( 2 มิ.ย.) เงินเยนยังแข็งค่าต่อเนื่องเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯในวันนี้ต่อเนื่องเป็นวันที่สามหลังนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะของญี่ปุ่นประกาศต่อรัฐสภาญี่ปุ่นเมื่อวันพุธที่ผ่านมาว่าเขาได้ตัดสินใจเลื่อนกำหนดเวลาที่จะขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จาก 8% สู่ 10% ออกไปอีก 2 ปีครึ่ง โดยนักวิเคราะห์บางส่วนได้ลดการคาดการณ์เกี่ยวกับแนวโน้มในการที่ธนาคารกลางของญี่ปุ่นจะดำเนินมาตรการทางการเงินเพิ่มเติมในช่วงนี้ อย่างไรก็ดีเนื่องจากคาดว่าการชะลอการขึ้นภาษีจะช่วยให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นไม่แย่ลงไปหนักกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้มากนัก แต่จะไม่ช่วยให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นฟื้นตัวต่อเนื่องตามเป้าหมายของทางการญี่ปุ่นได้ โดยเฉพาะในภาวะที่การส่งออกของญี่ปุ่นถูกกระทบจากทั้งเศรษฐกิจที่ชะลอลงของประเทศคู่ค้าและเยนที่แข็งค่า ดังนั้นจึงยังมีแนวโน้มสูงที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นจะผ่อนคลายนโยบายการเงินมากขึ้นอีก รวมทั้งแทรกแซงตลาดอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อให้เยนอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯเนื่องจากทางการญี่ปุ่นมองว่าการเคลื่อนไหวฝั่งเดียวดังกล่าวเกิดจากการเก็งกำไร

- ยูโร/ดอลลาร์ วันพฤหัส ( 2 มิย.) เงินยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯในช่วงเช้าวันนี้ต่อเนื่องเป็นวันที่สองซึ่งสอดคล้องกับภาวะที่วันนี้ดอลลาร์สหรัฐฯอ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินส่วนใหญ่ ขณะที่วันนี้นักลงทุนจับตาการประชุมธนาคารกลางยุโรปซึ่งนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าธนาคารกลางยุโรปจะตรึงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันนี้ แต่อาจจะปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อของยูโรโซน อย่างไรก็ดี ค่าเงินยูโรกลับมาอ่อนค่าในช่วงปิดท้ายตลาด

 

Capital Market

- ตลาดสหรัฐฯ วันพฤหัส ( 2 มิย.)ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐปิดปรับตัวขึ้นเล็กน้อย ขณะที่ข้อมูลใหม่หนุนมุมมองที่สดใสขึ้นของเศรษฐกิจสหรัฐ และการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มเฮลธ์แคร์ช่วยชดเชยการร่วงลงของหุ้นกลุ่มพลังงาน โดยดัชนี S&P 500 ปิดบวกสูงสุดในรอบ 7 เดือนและดัชนี Nasdaq ปิดบวกเป็นวันที่ 7 ติดต่อกัน ทั้งนี้ ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดบวก 0.27% สู่ 17,838.56 ดัชนี S&P 500 ปิดเพิ่มขึ้น 0.28% สู่ 2,105.26 และดัชนี Nasdaq ปิดปรับตัวขึ้น 0.39% สู่ 4,971.36

- ตลาดหุ้นเอเชีย วันพฤหัส ( 2 มิย.) ดัชนีนิกเกอิวันนี้ปิดตลาดลดลง 2.32% จากการที่เงินเยนกลับมาแข็งค่าต่อเนื่องอีกครั้งเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯซึ่งทำให้ทางการญี่ปุ่นมีแรงกดดันมากขึ้นในการที่จะแก้ปัญหาการแข็งค่าทางเดียวของค่าเงินเยนดังกล่าวเนื่องจากแม้ว่ารัฐบาลญี่ปุ่นจะเลื่อนการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มออกไปสองปีครึ่งซึ่งน่าจะช่วยให้การอุปโภคบริโภคในประเทศปรับตัวดีขึ้นมาได้บ้างแต่ว่าการส่งออกซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังไม่ฟื้นและมีแนวโน้มจะหดตัวมากขึ้นจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่อ่อนแอลงและเงินเยนที่แข็งค่า สำหรับดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตวันนี้ปิดตลาดเพิ่มขึ้น 0.40% โดยมีปัจจัยบวกจากการที่นักลงทุนคาดว่า MSCI จะบรรจุหุ้นจีนเข้าไว้ในดัชนีตลาดเกิดใหม่เป็นครั้งแรก แต่ก็มีปัจจัยลบจากดัชนีเศรษฐกิจจีนที่ชี้ถึงการหดตัวต่อเนื่องของภาคอุตสาหกรรม และภาวะฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์

- ตลาดหุ้นไทย วันพฤหัส ( 2 มิ.ย.) ดัชนีตลาดหุ้นไทยวันนี้ปรับตัวสูงขึ้นนำโดยหุ้นในกลุ่มพลังงาน พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง โดยปิดตลาดวันนี้ SET INDEX เพิ่มขึ้น 8.30จุด

 

โดย สำนักวิจัยธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ประจำวันที่ 3 มิ.ย. 2559

Comments

B
i
u
Quote
Code
List
List item
URL
Name *
Code   
ChronoComments by Joomla Professional Solutions
Submit Comment
 
 

Login

Forgot your password? Create an account
mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterToday31227
mod_vvisit_counterYesterday34804
mod_vvisit_counterAll days167358805

We have: 736 guests online
Your IP: 18.222.22.244
Mozilla 5.0, 
Today: Apr 20, 2024

11669040