Forgot your password? Create an account
  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
News

Stockwave Online กระแสหุ้นออนไลน์ หุ้น หลักทรัพย์ การเงิน ข่าวเศรษฐกิจ

Home Economic View สรุปประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจและการเงินรายวัน - ธ.ซีไอเอ็มบี ไทย
สรุปประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจและการเงินรายวัน - ธ.ซีไอเอ็มบี ไทย PDF Print E-mail
Tuesday, 02 May 2017 09:13

Snapshot

 

สหรัฐอเมริกา

การใช้จ่ายด้านการก่อสร้างของสหรัฐฯ ในเดือนมีนาคมลดลง 0.2% สู่ระดับ 1.218 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หลังจากเพิ่มขึ้น 1.8% ในเดือนกุมภาพันธ์ โดยได้รับผลกระทบจากการปรับตัวลงของการก่อสร้างโครงการที่ไม่ใช่เพื่อที่อยู่อาศัย และโครงการก่อสร้างของรัฐบาล ขณะที่การก่อสร้างในโครงการเพื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทั้งนี้ การใช้จ่ายด้านการก่อสร้างในโครงการเพื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น 1.2% มาอยู่ที่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2550 ส่วนการใช้จ่ายของโครงการที่ไม่ใช่เพื่อที่อยู่อาศัยลดลง 1.3% และการใช้จ่ายในภาครัฐลดลง 0.9%

ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ในเดือนมีนาคมลดลง 0.2% เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งเป็นการปรับตัวลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2016 และเป็นการลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2558  เมื่อเทียบรายปี ดัชนี PCE เพิ่มขึ้น 1.8% (yoy) หลังจากเพิ่มขึ้น 2.1% ในเดือนกุมภาพันธ์ ด้านดัชนี PCE พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ให้ความสำคัญ ลดลง 0.1% (mom) ซึ่งเป็นการปรับตัวลงเป็นครั้งแรก และดิ่งลงหนักที่สุดนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2554 หลังจากขยับขึ้น 0.2% ในเดือนก่อน เมื่อเทียบรายปี ดัชนี PCE พื้นฐาน ในเดือนมีนาคมเพิ่มขึ้น 1.6% หลังจากปรับตัวขึ้น 1.8% ในเดือนกุมภาพันธ์ ทั้งนี้ ดัชนี PCE พื้นฐาน ยังคงอยู่ห่างไกลจากระดับ 2.0% ซึ่งเป็นระดับเป้าหมายเงินเฟ้อของ Fed

ดัชนีภาคการผลิตที่จัดทำโดยสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) ในเดือนเมษายนปรับตัวลงสู่ระดับ 54.8 จากระดับ 57.2 ในเดือนมีนาคม และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 56.4 อย่างไรก็ดี ดัชนียังคงอยู่เหนือระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ภาวะขยายตัวของภาคการผลิต และเป็นการขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 95 ทั้งนี้ ในบรรดา 18 ภาคอุตสาหกรรมที่ ISM ทำการสำรวจ พบว่า 16 ภาคอุตสาหกรรมมีการเติบโต โดยยอดคำสั่งซื้อใหม่, การผลิต และการจ้างงานต่างมีการขยายตัวในเดือนดังกล่าว

การใช้จ่ายของผู้บริโภคสหรัฐฯ ทรงตัวเป็นเดือนที่ 2 ในเดือนมีนาคม หลังจากขยับขึ้น 0.2% ในเดือนมกราคม ขณะที่ผู้บริโภคลดการใช้จ่ายเกี่ยวกับสินค้าคงทน เช่น รถยนต์ ทั้งนี้ การใช้จ่ายของผู้บริโภคในไตรมาส 1/2560 มีการขยายตัวเพียง 0.3% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบกว่า 7 ปี และเป็นสาเหตุที่ทำให้ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 1 ของสหรัฐมีการขยายตัวเพียง 0.7% ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบ 3 ปี และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 1.2% อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า การใช้จ่ายของผู้บริโภคจะปรับตัวขึ้นในไตรมาส 2 โดยได้แรงหนุนจากตลาดแรงงานที่แข็งแกร่ง และความเชื่อมั่นของผู้บริโภค นอกจากนี้ รายได้ส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น 0.2% ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.3%

ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ ได้ลงนามในคำสั่งประธานาธิบดีฉบับใหม่ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อยกเลิกข้อจำกัดในการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซนอกชายฝั่งของสหรัฐในสมัยประธานาธิบดีบารัค โอบามา ระบุจะช่วยสร้างงานหลายพันตำแหน่ง แม้ในยามที่ตลาดน้ำมันอยู่ในช่วงขาลง โดยทรัมป์กล่าวว่า คำสั่งของเขา ซึ่งมีชื่อว่า "Implementing an America-First Offshore Energy Strategy" จะเริ่มต้นกระบวนการในการเปิดพื้นที่นอกชายฝั่งเพื่อการสำรวจพลังงาน ซึ่งจะทำให้เกิดการสร้างงาน ทั้งนี้ คำสั่งของนายทรัมป์อาจนำไปสู่การยกเลิกคำสั่งห้ามให้เช่าพื้นที่นอกชายฝั่งเพื่อการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซในมหาสมุทรอาร์กติกและแอตแลนติก ซึ่งได้รับการอนุมัติให้มีผลบังคับใช้โดยอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา เมื่อช่วงปลายเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา นอกจากนี้ คำสั่งดังกล่าวยังได้สั่งการให้รัฐมนตรีมหาดไทย ไรอัน ซิงก์ ทำการทบทวนแผนการพัฒนาการสำรวจน้ำมันและก๊าซนอกชายฝั่งของสหรัฐในระหว่างปี 2560-2565 ซึ่งจัดทำแล้วเสร็จภายใต้คณะบริหารของอดีตปธน.โอบามาเช่นกัน

ตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 ของการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 1/2560 อยู่ที่ระดับ 0.7% ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบ 3 ปี และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 1.2% รขยายตัวที่ต่ำกว่าคาดในไตรมาส 1 ได้รับผลกระทบจากการใช้จ่ายที่ซบเซาของผู้บริโภค และตอกย้ำรูปแบบการปรับตัวของเศรษฐกิจสหรัฐที่มักจะชะลอตัวในช่วงต้นปี โดยการใช้จ่ายของผู้บริโภคมีการขยายตัวเพียง 0.3% ในไตรมาส 1 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบกว่า 7 ปี โดยได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น จะช่วยผลักดันเศรษฐกิจให้ขยายตัวมากกว่า 3% ในไตรมาส 2ส่วนการใช้จ่ายของรัฐบาลลดลง 1.7% ในไตรมาส 1 โดยการใช้จ่ายด้านกลาโหมดิ่งลง 4.0% ซึ่งเป็นการปรับตัวลงมากที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาส 4 ของปี 2014 อย่างไรก็ดี การลงทุนในภาคธุรกิจพุ่งขึ้น 9.1% ในไตรมาส 1 โดยได้แรงหนุนจากการขุดเจาะ และสำรวจน้ำมันที่เพิ่มขึ้น หลังราคาน้ำมันฟื้นตัวขึ้นจากระดับต่ำสุดในรอบหลายปี ทั้งนี้ เศรษฐกิจสหรัฐมีการขยายตัว 2.1% ในไตรมาส 4 ของปีที่แล้ว หลังจากที่พุ่งขึ้น 3.5% ในไตรมาส 3 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 2 ปี หรือนับตั้งแต่ไตรมาส 3 ของปี 2014 และมีการเติบโต 1.4% ในไตรมาส 2 และ 0.8% ในไตรมาส 1

ดัชนีต้นทุนการจ้างงาน (ECI) ซึ่งเป็นมาตรวัดต้นทุนแรงงานในไตรมาส 1/2560 ปรับตัวขึ้น 0.8% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ไตรมาส 4 ของปี 2007 หลังจากที่เพิ่มขึ้น 0.5% ในไตรมาส 4/2559 ขณะที่ก่อนหน้านี้ นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ดัชนี ECI จะปรับตัวขึ้น 0.6%

 

ยุโรป: กรีซ

หนังสือพิมพ์ฟุงเคอมีเดียกรุ๊ปของเยอรมนีรายงานว่า นายโวล์ฟกัง ชอยเบิล รมว.คลังเยอรมนีให้สัมภาษณ์ว่า กรีซมีความคืบหน้าอย่างยิ่งในการปฏิรูปเศรษฐกิจ ซึ่งอาจจะช่วยให้กรีซได้รับเงินกู้รอบถัดไปเร็วขึ้น โดนนายชอยเบิลระบุว่า หากกรีซเห็นด้วยกับข้อตกลงทั้งหมด รัฐมนตรีคลังยุโรปอาจเสร็จสิ้นการพิจารณาในวันที่ 22 พ.ค. และกรีซอาจรับเงินช่วยเหลือรอบใหม่ไม่นานหลังจากนั้น ขณะที่ รมว.คลังเยอรมนีเปิดเผยด้วยว่า รัฐบาลกรีซให้สัญญาว่าจะปรับลดการจ่ายเงินบำนาญและปรับปรุงการเก็บภาษีให้ดีขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้ บรรดาเจ้าหนี้ของกรีซ ประกอบไปด้วยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) สหภาพยุโรป (EU) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) เห็นพ้องในขั้นเบื้องต้นที่จะปล่อยเงินกู้งวดต่อไปราว 7 พันล้านยูโรให้แก่กรีซ แต่เงินกู้งวดนี้จะส่งมอบให้แก่กรีซได้ก็ต่อเมื่อกระบวนการตรวจสอบบัญชีเสร็จสมบูรณ์

 

เอเชีย: ญี่ปุ่น

ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) พื้นฐานของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น  0.2% ต่อปีในเดือนมี.ค. ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ 0.3% ต่อปี ส่วนปริมาณการจับจ่ายของภาคครัวเรือนญี่ปุ่นดิ่งลง 1.3% ต่อปีในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นอัตราการดิ่งลงที่รุนแรงเกินคาด และสิ่งนี้จะสร้างความกังวลให้แก่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) โดยบ่งชี้ว่าอุปสงค์ภายในญี่ปุ่นอาจจะอยู่ในระดับที่ต่ำเกินกว่าที่จะทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้ออย่างยั่งยืน การผลิตภาคอุตสาหกรรมในญี่ปุ่นดิ่งลง 2.1% ในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นระดับที่รุนแรงเกินคาดเช่นกัน แต่นักเศรษฐศาสตร์ยังคงคาดการณ์ว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมจะฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้า ในขณะที่ความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจต่างประเทศช่วยหนุนอุปสงค์ในสินค้าส่งออกของญี่ปุ่น

 

ออสเตรเลีย

สำรวจของรอยเตอร์บ่งชี้ว่า บรรดานักเศรษฐศาสตร์คาดว่า ธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) จะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1.5% ในการประชุมนโยบายประจำเดือนในสัปดาห์หน้า ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์ทั้ง 65 คนในผลสำรวจของรอยเตอร์คาดว่า RBA จะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมในวันที่ 2 พ.ค.นี้ หลังจากที่ปรับลดดอกเบี้ยลง 2 ครั้งในปีที่แล้ว  ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คาดว่า RBA จะคงอัตราดอกเบี้ยเป็นเวลา 1 ปี นักเศรษฐศาสตร์ 23 คนจาก 56 คนคาดว่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยภายในกลางปีหน้า เทียบกับ 4 คนที่คาดว่าจะมีการลดดอกเบี้ย

 

ฮ่องกง

ข้อมูลของรัฐบาลฮ่องกงระบุว่า ราคาบ้านเดี่ยวในฮ่องกงซึ่งเป็นหนึ่งในสถานที่ที่มีราคาแพงที่สุดในโลกนั้นได้ พุ่งทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์เป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกันในเดือนมี.ค. โดยพุ่งขึ้นต่อเนื่องมาร่วมปี การชะลอตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ร้อนแรงของฮ่องกงจะเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญของนางแครี่ แลม ว่าที่ผู้บริหารเขตปกครองพิเศษฮ่องกง ซึ่งจะเข้ารับตำแหน่งในเดือนก.ค.นี้ และเคยประกาศว่าจะจัดการกับราคาบ้านแพงในฮ่องกง ราคาบ้านในฮ่องกงพุ่งขึ้น 364% นับตั้งแต่ปี 2003 ขณะที่ค่ากลางของรายได้ภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้นเพียง 61% ซึ่งทำให้การเป็นเจ้าของบ้านเป็นเรื่องที่ยากลำบากสำหรับประชนชนจำนวนมาก ทั้งนี้ ดัชนีที่รวบรวมโดยกรมจัดอันดับและประเมินมูลค่าระบุว่า ในเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา ราคาบ้านเดี่ยวเพิ่มขึ้น 2.07% เมื่อเทียบกับเดือนก.พ. ขณะที่ราคาพุ่งขึ้น 17.8% เมื่อเทียบเป็นรายปี

 

เกาหลีเหนือ

นายเร็กซ์ ทิลเลอร์สัน รมว.ต่างประเทศของสหรัฐจะกดดันคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็น)  เพื่อให้คณะมนตรีโดดเดี่ยวเกาหลีเหนือมากยิ่งขึ้น โดยผ่านทางการประกาศใช้มาตรการคว่ำบาตรที่เข้มงวดยิ่งขึ้นภายในเวลาอันรวดเร็ว เมื่อใดก็ตามที่เกาหลีเหนือทำในสิ่งที่เป็นการยั่วยุ ซึ่งรวมถึงการยิงขีปนาวุธพิสัยไกล และการทดสอบนิวเคลียร์ครั้งที่ 6

 

เกาหลีใต้

เจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังเกาหลีใต้เปิดเผยว่า เกาหลีใต้ยังไม่ได้รับคำร้องขออย่างเป็นทางการเรื่องการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีใหม่กับสหรัฐ หลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้เปิดเผยกับรอยเตอร์ว่า เขาจะ "เจรจาต่อรองใหม่ หรือไม่ก็ยุติ" ข้อตกลงดังกล่าว

นายคิม คี-จุง ที่ปรึกษาด้านนโยบายต่างประเทศของนายมูน แจ-อิน ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเกาหลีใต้เปิดเผยว่า ข้อเสนอของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ที่ให้เกาหลีใต้จ่ายค่าระบบต่อต้านขีปนาวุธสหรัฐ THAAD ที่ทันสมัยนั้น "เป็นทางเลือกที่เป็นไปไม่ได้" ปธน.ทรัมป์ให้สัมภาษณ์พิเศษกับรอยเตอร์ว่า เขาต้องการให้เกาหลีใต้จ่ายเงิน 1 พันล้านดอลลาร์เป็นค่าระบบ THAAD

 

ไทย

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม(MPI) เดือน มี.ค.60 ลดลง 0.53% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เทียบกับที่ลดลง 1.09% ในเดือน ก.พ. ซึ่งเป็นการลดลงเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน แต่ยังน้อยกว่าที่โพลล์รอยเตอร์คาดไว้ลดลง 1.65%  ขณะที่เมื่อเทียบรายเดือน MPI เดือน มี.ค. เพิ่มขึ้น 12.13% จากเดือนก่อนหน้า เทียบกับที่ลดลง 0.50% ในเดือนก.พ. สศอ.ระบุในเอกสารเผยแพร่ว่า MPI ที่ลดลงในเดือนมี.ค. เป็นผลจากอุตสาหกรรมรถยนต์ ที่ลดลง 11.12% จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยมีสาเหตุจากการส่งออกรถยนต์ไปยังประเทศแถบตะวันออกกลาง ชะลอตัวลง จากปัญญาด้านเศรษฐกิจและการเมือง ส่วนอุตสาหกรรมเครื่องยนต์สำหรับรถยนต์ ลดลง 6.26% โดยเป็นผลจากความต้องการใช้เครื่องยนต์เบนซินและดีเซล ลดลงจากปีก่อน สำหรับในไตรมาส 1/60 ดัชนี MPI ปรับตัวขึ้น 0.1% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ก่อนหน้านี้ สศอ.คาดว่า MPI ในปี 60 จะเพิ่มขึ้นในกรอบ 0.5-1.5% จากปี 59 ที่เพิ่มขึ้น 0.45% สศอ.ระบุด้วยว่า อัตราการใช้กำลังการผลิตในเดือนมี.ค. อยู่ที่ 67.09% จาก 59.97% ในเดือนก.พ.

ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) คาดผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) ของไทยในไตรมาส 1/60 จะเติบโตกว่า 3% เล็กน้อย ขณะที่คาดเศรษฐกิจไทยในครึ่งแรกของปีนี้ จะขยายตัวได้ 3% หลังเศรษฐกิจในไตรมาสแรก มีทิศทางขยายตัวดีขึ้น โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักจากการส่งออกสินค้าที่ขยายตัว และมีการกระจายตัวของการส่งออก ไปในหลายสินค้าอย่างทั่วถึงมากขึ้น ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวดีขึ้น ตามรายได้ของภาคเกษตร และความเชื่อมั่นภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้น ส่วนภาครัฐยังคงมีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า ที่ได้รับผลกระทบจากการปราบปรามทัวร์ผิดกฎหมาย  นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธปท. กล่าวในการแถลงข่าว โดยกล่าวถึงตัวเลขเศรษฐกิจไทยในเดือนมี.ค.ว่า ยังขยายตัวได้ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า โดยมีแรงส่งสำคัญจากมูลค่าการส่งออกที่ขยายตัวดี และกระจายตัวมากขึ้น ทั้งในตัวสินค้าและตลาดส่งออก แต่การส่งออกที่ดีขึ้น ยังไม่ได้ส่งผลไปยังการผลิตภาคอุตสาหกรรมให้ปรับตัวดีขึ้น โดยผู้ส่งออกยังเน้นการระบายสินค้าในสต็อกเป็นหลัก ทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน มี.ค.หดตัวลง ส่วนการบริโภคภาคเอกชน มีทิศทางปรับตัวดีขึ้น จากแรงสนับสนุนของรายได้เกษตรกร และความเชื่อมั่นภาคครัวเรือนที่ดีขึ้น  เขา ระบุว่า การลงทุนภาคเอกชนในเดือนมี.ค. ยังคงหดตัวจากระยะเดียวกันของปีก่อน หลังบางธุรกิจมีการเร่งลงทุนไปในช่วงปลายปี โดยการลงทุนภาคเอกชนในไตรมาส 1/60 ยังต่ำกว่าที่ ธปท.เคยประเมินไว้ ซึ่งหากการลงทุนภาคเอกชนไม่เกิดขึ้น โอกาสที่เศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวได้ในระดับ 3.5% ก็จะเป็นไปได้ยาก

ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เผยจะต่ออายุมาตรการปรับลดวงเงินการออกพันธบัตร ธปท.อายุ 3 เดือน และ 6 เดือน ต่อไปอีกในเดือนพ.ค. หลังพบว่า การดำเนินมาตรการดังกล่าว ช่วยลดการไหลเข้ามาพักของเงินทุนระยะสั้น ในตลาดการเงินไทย นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธปท. กล่าวในการแถลงข่าวว่าเราไม่ชอบ hot money ที่เข้ามาพัก ซึ่งทำให้เงินบาทเปลี่ยนแปลงไปมากกว่า fundamental เป็นสิ่งที่เราไม่ต้องการ" ในช่วงเดือนเม.ย.นี้ ธปท.ได้ปรับลดวงเงินการออกพันธบัตรระยะสั้น อายุ 3 เดือน  และ 6 เดือน ลงช่วงอายุละ 1 หมื่นล้านบาทต่อสัปดาห์ เหลือ 3 หมื่นล้านบาทต่อสัปดาห์ จากเดิมที่มีการประมูลช่วงอายุละ 4 หมื่นล้านบาทต่อสัปดาห์

กระทรวงพาณิชย์ เผยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป(CPI) ในเดือน เม.ย.เพิ่มขึ้น 0.38% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ต่ำสุดในรอบ 6 เดือน และ ต่ำกว่าที่โพลล์รอยเตอร์คาดไว้เพิ่มขึ้น 0.71% แต่ยังเป็นการปรับขึ้นเป็นเดือนที่ 13 ติดต่อกัน ซึ่งเป็นผลจากการปรับขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง, อาหารสำเร็จรูป และค่าเช่าบ้านในภาคกลาง ขณะที่เมื่อเทียบเดือนก่อนหน้า CPI ในเดือน เม.ย. เพิ่มขึ้น 0.16% ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน(Core CPI) ซึ่งไม่รวมหมวดอาหารสดและพลังงาน ในเม.ย.เพิ่มขึ้น 0.50% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.02% จากเดือนก่อนหน้า

 

Money Market

- ดอลลาร์/บาท วันศุกร์-จันทร์ (28 เมย.-1 พค.) เงินบาททรงตัวในช่วงเช้าวันศุกร์ขณะทีวันนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยเผยว่าจะต่ออายุมาตรการปรับลดวงเงินการออกพันธบัตร ธปท.อายุ 3 เดือน และ 6 เดือน ต่อไปอีกในเดือนพ.ค. หลังพบว่า การดำเนินมาตรการดังกล่าว ช่วยลดการไหลเข้ามาพักของเงินทุนระยะสั้น ในตลาดการเงินไทย ทั้งนี้ในวันจันทร์ดอลลาร์สหรัฐฯได้รับแรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ หลังจากนายสตีเวน มนูชิน รมว.คลังสหรัฐ แสดงความเห็นต่อความเป็นไปได้ในการออกจำหน่ายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐระยะยาวมาก

- ดอลลาร์/เยน วันศุกร์-จันทร์ (28 เมย.-1 พค.)  เงินเยนอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯในช่วงเช้าวันศุกร์ต่อเนื่องจากวันพฤหัสหลังธนาคารกลางญี่ปุ่นตรึงนโยบายการเงินตามความคาดหมายและประเมินภาพเศรษฐกิจญี่ปุ่นในทางบวกมากขึ้น แต่ปรับลดคาดการณ์เงินเฟ้อลงเล็กน้อยสำหรับปีงบประมาณนี้ ซึ่งชี้ว่าบีโอเจจะยังคงดำเนินมาตรการกระตุ้นด้านการเงินครั้งใหญ่ต่อไปอีกระยะหนึ่งเพื่อให้บรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2% ขณะที่วันนี้ทางการญี่ปุ่นรายงานว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) พื้นฐานของญี่ปุ่นปรับขึ้นน้อยเกินคาดในเดือนมี.ค.ปีนี้เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปีก่อน แต่ยังคงมีค่าเป็นบวกเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน  ทั้งนี้ในวันจันทร์ดอลลาร์สหรัฐฯได้รับแรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ หลังจากนายสตีเวน มนูชิน รมว.คลังสหรัฐ แสดงความเห็นต่อความเป็นไปได้ในการออกจำหน่ายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐระยะยาวมาก

- ยูโร/ดอลลาร์ วันศุกร์-จันทร์ (28 เมย.-1 พค.) เงินยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯในช่วงเช้าวันศุกร์ที่ผ่านมาและต่อเนื่องถึงวันจันทร์หลังอ่อนค่าในวันพฤหัส ขณะที่การประชุม ECB เมื่อวันพฤหัสนายมาริโอ ดรากี ประธานอีซีบีกล่าวว่า ไมได้มีการหารือกันเรื่องการยกเลิกแนวโน้มในการผ่อนคลายนโยบายการเงินในการประชุมอีซีบีในครั้งนี้ ขณะที่วันนี้สำนักงานสถิติของรัฐบาลกลางเยอรมนีระบุว่า ยอดค้าปลีกปรับขึ้น 0.1% ต่อเดือนในเดือนมี.ค. หลังจากยอดค้าปลีกพุ่งขึ้น 1.1% ต่อเดือนในเดือนก.พ.

 

Capital Market

- ตลาดหุ้นสหรัฐฯ วันศุกร์-จันทร์ (28 เมย.-1 พค.) ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐปิดปรับตัวขึ้นในวันจันทร์ โดยดัชนี Nasdaq ปิดที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์อีกครั้ง โดยได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นแอปเปิลและหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีขนาดใหญ่ หุ้นแอปเปิลเพิ่มขึ้น 2% ก่อนรายงานผลประกอบการในวันอังคารนี้ ทั้งนี้ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดลบ 0.13% สู่ระดับ 20,913.46, ดัชนี S&P 500 ปิดบวก 0.17% สู่ระดับ 2,388.33 และดัชนี Nasdaq ปิดปรับตัวขึ้น 0.73% สู่ระดับ 6,091.60

- ตลาดหุ้นเอเซีย วันศุกร์-จันทร์ (28 เมย.-1 พค.) ดัชนีนิกเกอิปิดตลาดลดลง 0.29% ในวันศุกร์ขณะที่แรงบวกในช่วงสั้นที่เกิดขึ้นจากการคลายวิตกทางการเมืองในยุโรปนั้นได้จางหายไป ส่วนดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตปิดตลาดบวก 0.08% โดยดัชนีหุ้นจีนปิดแทบไม่เปลี่ยนแปลงแต่ลดลงมากที่สุดของปีนี้ในเดือนเมษายนที่ผ่านมาจากความวิตกว่า ผู้ควบคุมกฎระเบียบจะเพิ่มมาตรการขั้นเด็ดขาดล่าสุดเพื่อจัดการกับการปล่อยสินเชื่อ และการเก็งกำไรประเภทที่มีความเสี่ยงมากขึ้น สำหรับดัชนีฮั่งเส็งปิดลดลง 0.34% โดยหุ้นกลุ่มวัสดุ และกลุ่มอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น ขณะที่หุ้นกลุ่มการเงิน และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ลดลง สำหรับในวันจันทร์ดัชนีนิกเกอิปิดเพิ่มขึ้น 0.59% โดยได้แรงหนุนจากเยนที่อ่อนค่า

- ตลาดหุ้นไทย วันศุกร์ ( 28 เมย.) ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงเล็กน้อยในวันศุกร์ที่ผ่านมา โดยวันนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยรายงานตัวเลขเศรษฐกิจเดือนมีนาคมและไตรมาสแรกและแถลงคาดการณ์ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของไทยในไตรมาส 1/60 จะเติบโตกว่า 3% เล็กน้อย ขณะที่คาดเศรษฐกิจไทยในครึ่งแรกของปีนี้ จะขยายตัวได้ 3% หลังเศรษฐกิจในไตรมาสแรก มีทิศทางขยายตัวดีขึ้น โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักจากการส่งออกสินค้าที่ขยายตัว และมีการกระจายตัวของการส่งออก ไปในหลายสินค้าอย่างทั่วถึงมากขึ้น  ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวดีขึ้น  การลงทุนภาคเอกชนในเดือนมี.ค. ยังคงหดตัวจากระยะเดียวกันของปีก่อน หลังบางธุรกิจมีการเร่งลงทุนไปในช่วงปลายปี โดยการลงทุนภาคเอกชนในไตรมาส 1/60 ยังต่ำกว่าที่ ธปท.เคยประเมินไว้ ซึ่งหากการลงทุนภาคเอกชนไม่เกิดขึ้น โอกาสที่เศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวได้ในระดับ 3.5% ก็จะเป็นไปได้ยาก โดยปิดตลาดวันนิ้ SET INDEX ลดลง 0.45 จุด

 

โดย สำนักวิจัยธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ประจำวันที่ 2 พ.ค. 2560

Comments

B
i
u
Quote
Code
List
List item
URL
Name *
Code   
ChronoComments by Joomla Professional Solutions
Submit Comment
 
 

Login

Forgot your password? Create an account
mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterToday12918
mod_vvisit_counterYesterday44584
mod_vvisit_counterAll days167553561

We have: 455 guests online
Your IP: 18.218.184.214
Mozilla 5.0, 
Today: Apr 25, 2024

4235576