มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ คาดสร้างรายได้เพิ่มราว 41,000 ล้านบาท
Print
Friday, 19 June 2020 10:56

ประเด็นสำคัญ

•              จากมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศช่วงเดือน ก.ค.-ต.ค. 2563 ของภาครัฐ เพื่อช่วยประคับประคองธุรกิจท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโควิด-19 ประกอบกับ ผลสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่พบว่า กลุ่มตัวอย่าง 47.7% มองว่ามาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยว และกลุ่มตัวอย่างกว่า 60.1% วางแผนจะเดินทางท่องเที่ยวในประเทศในช่วง 1-3 เดือน (หลังการคลายล็อก) ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ตลาดการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศของคนไทยจะได้รับผลด้านบวกให้มีเม็ดเงินรายได้เพิ่มขึ้นราว 41,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับกรณีที่ไม่มีมาตรการฯ

•              อย่างไรก็ดี ด้วยกำลังซื้อที่เปราะบางตามภาวะเศรษฐกิจ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ตลาดจะยังไม่สามารถพลิกมาเป็นบวก และทำให้ทั้งปี 2563 คนไทยเที่ยวในประเทศน่าจะอยู่ที่ 89.5-91.5 ล้านคน-ครั้ง หรือหดตัว 46.4% ถึงหดตัว 45.2% จากปีที่ผ่านมา ขณะที่รายได้ตลาดไทยเที่ยวไทยน่าจะมีมูลค่า 5.45-5.67 แสนล้านบาท หรือหดตัว 49.5% ถึงหดตัว 47.5% จากปีที่ผ่านมา ภายใต้สมมติฐานที่ไม่มีการระบาดรอบใหม่ที่รุนแรงในไทย แต่ก็เป็นตัวเลขคาดการณ์ที่ดีกว่าที่เคยประเมินไว้

•              มองไปข้างหน้า ธุรกิจยังต้องเผชิญกับปัจจัยท้าทายหลายประการท่ามกลางการแข่งขันที่เข้มข้น ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวจำเป็นต้องปรับรูปแบบการทำตลาด โดยใช้จังหวะที่ภาครัฐออกมาตรการฯ จัดแพคเกจท่องเที่ยวพิเศษสำหรับผู้ที่ไม่สามารถลงทะเบียนรับสิทธิ์จากมาตรการของรัฐ หรือการจูงใจให้นักท่องเที่ยวกลับมาใช้บริการอีกครั้ง โดยนำเสนอแพคเกจราคาพิเศษให้ลูกค้ามาใช้บริการในครั้งต่อไป เป็นต้น

สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในประเทศที่ดีขึ้น จนหน่วยงานภาครัฐได้ผ่อนคลายมาตรการการเดินทางข้ามจังหวัด ระบบการคมนาคมขนส่ง ท่าอากาศยาน และสถานที่ท่องเที่ยวก็กลับมาให้บริการได้ตามปกติ และเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2563 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบมาตรการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวในประเทศผ่าน 3 โครงการ โดยมีระยะเวลาการดำเนินโครงการตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-ตุลาคม 2563  ซึ่ง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีมุมมองต่อทิศทางตลาดการท่องเที่ยวของคนไทยเที่ยวในประเทศในช่วงที่เหลือของปี 2563 ดังนี้

 

มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ ช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยวและกระตุ้นบรรยากาศการท่องเที่ยวในช่วงหลังโควิด-19

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศของภาครัฐ จะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการในภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดของโควิด-19 เนื่องจากมาตรการฯ ดังกล่าวมีการออกแบบที่จะช่วยเหลือให้ครอบคลุมผู้ประกอบการในห่วงโซ่ของภาคการท่องเที่ยวทั้งทางตรงและทางอ้อม อาทิ ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจนำเที่ยว ธุรกิจขนส่ง และธุรกิจท้องถิ่นอย่างร้านขายของที่ระลึก หรือร้านอาหาร เป็นต้น อีกทั้งยังน่าจะมีผลทางจิตวิทยากระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวและก่อให้เกิดการใช้จ่ายในสถานที่ท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ส่งผลทางบวกเพิ่มเติมต่อทิศทางตลาดไทยเที่ยวไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ จากเดิมที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ตลาดการท่องเที่ยวของคนไทยเที่ยวในประเทศในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 จะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นกว่าในช่วงครึ่งปีแรกอยู่แล้ว หากสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศคลี่คลาย

เหตุผลที่สนับสนุนมุมมองข้างต้น ส่วนหนึ่งสะท้อนจากผลสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่พบว่า ผู้ตอบแบบถามราว 47.7% มองว่า มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวโดยให้ประชาชนลงทะเบียนรับสิทธิ์ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยว ขณะเดียวกัน กลุ่มตัวอย่าง 60.1% มีแผนที่จะเดินทางท่องเที่ยวในประเทศในช่วง 1-3 เดือน (หลังการคลายล็อก) ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ผลของมาตรการภาครัฐ น่าจะทำให้คนไทยตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น และสร้างเม็ดเงินรายได้ส่วนเพิ่มในตลาดไทยเที่ยวไทยอีกราว 41,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับกรณีที่ไม่มีมาตรการฯ

อย่างไรก็ตาม ด้วยกำลังซื้อที่เปราะบางตามภาวะเศรษฐกิจ และความท้าทายของธุรกิจภายใต้สภาวะ New Normal ทำให้คาดว่า ในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ตลาดจะยังไม่สามารถพลิกกลับมาเป็นบวก เมื่อประกอบกับในช่วงครึ่งปีแรกตลาดถูกกระทบอย่างหนัก ภายใต้สมมติฐานที่ไม่มีการระบาดรอบใหม่ที่รุนแรงในไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงคาดว่า ทั้งปี 2563 คนไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศน่าจะอยู่ที่ 89.5-91.5 ล้านคน-ครั้ง หรือหดตัว 46.4% ถึงหดตัว 45.2% จากปีที่ผ่านมา ขณะที่รายได้จากคนไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศน่าจะมีมูลค่า 5.45-5.67 แสนล้านบาท หรือหดตัว 49.5% ถึงหดตัว 47.5% จากปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นตัวเลขคาดการณ์ที่ดีกว่าที่เคยประเมินไว้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับประมาณการตลาดไทยเที่ยวไทยในปี 2563

ภายใต้สมมติฐานประเทศไทยไม่มีการระบาดของโควิด-19 รอบสองที่รุนแรง

ไม่มีมาตรการฯ    มีมาตรการฯ

การเดินทางท่องเที่ยวในประเทศของคนไทย (ล้านคน-ครั้ง)                    79.5-89.5              89.5-91.5

รายได้จากการเดินทางท่องเที่ยวใน ประเทศของคนไทย (ล้านบาท)       4.85-5.45              5.45-5.67

ผลสำรวจการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศของคนไทยหลังการคลายล็อก โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย

•              47.7% ของผู้ตอบแบบสอบถาม มองว่า มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศโดยให้ประชาชนลงทะเบียนรับสิทธิ์ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ มีผลต่อการตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยว ขณะที่กลุ่มตัวอย่าง 52.3% มองว่าไม่มีผล อาจเพราะมองจากประสบการณ์ที่ผ่านมาซึ่งมีอุปสรรคในการเข้าถึงการลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิ์ (ขั้นตอนที่ไม่ง่าย/ลงทะเบียนไม่ทัน/ใช้ไม่เป็น) ดังนั้น สำหรับมาตรการฯ ครั้งนี้ ภาครัฐอาจพิจารณาขั้นตอนในทางปฏิบัติเพื่อให้เป็นไปอย่างสะดวกมากขึ้น อีกทั้งอาจเพิ่มการระบุวันในการเดินทางของผู้ใช้สิทธิ์เพื่อติดตามและดูแลให้การเดินทางท่องเที่ยวในแต่ละพื้นที่ไม่เกิดการกระจุกตัวหรือหนาแน่นเกินไป ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงของโอกาสที่จะเกิดการระบาดของโควิด-19

•              กว่า 60.1% ของผู้ตอบแบบสอบถาม มีแผนจะเดินทางท่องเที่ยวในประเทศในช่วง 1-3 เดือนหลังการคลายล็อก เนื่องจากอยากเปลี่ยนบรรยากาศหลังการ ’อยู่บ้าน หยุดเชื้อ ช่วยชาติ’ มานาน และสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติหลายแห่งกลับมาสวยงาม จึงอยากเดินทางท่องเที่ยว นอกจากนี้ การจัดโปรโมชั่นด้านราคาของผู้ประกอบการ ก็มีส่วนกระตุ้นความต้องการเดินทางของนักท่องเที่ยวเช่นกัน อย่างไรก็ดี ส่วนใหญ่ของกลุ่มตัวอย่างกลุ่มนี้ ยังไม่ได้วางแผนช่วงเวลาที่แน่นอนของการเดินทางท่องเที่ยว เพราะยังรอติดตามนโยบายวันหยุดและมาตรการของภาครัฐ รวมถึงสถานการณ์โควิด-19 ขณะที่กลุ่มตัวอย่าง 31.8% ยังไม่มีแผนท่องเที่ยวในประเทศในช่วง 1-3 เดือนนี้ เพราะต้องการให้แน่ใจว่าสถานการณ์โควิดยุติแล้วจึงค่อยวางแผนเดินทาง และส่วนหนึ่งมีแผนเดินทางหลัง 1-3 เดือนนี้ซึ่งอาจเป็นช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ส่วนที่เหลืออีกราว 8.2% มองว่าจะรอเดินทางท่องเที่ยวในปีหน้า

•              แหล่งท่องเที่ยวทางทะเล เป็นจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวอันดับ 1 โดยจังหวัดยอดนิยมทางทะเล 5 อันดับแรก ได้แก่ ชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ภูเก็ต กระบี่ และเพชรบุรี ส่วนจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวรองลงมา คือ แหล่งท่องเที่ยวทางภูเขา/น้ำตก (เช่น เชียงใหม่ เชียงราย น่าน นครราชสีมา) และการไปไหว้พระทำบุญ (เช่น พระนครศรีอยุธยา อุทัยธานี) นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เลือกที่จะเดินทางโดยการขับรถส่วนตัว เนื่องจากสะดวก ปลอดภัย และมีการเดินทางเป็นครอบครัว รองลงมา คือ การเดินทางโดยเครื่องบิน รถทัวร์/รถตู้ รถไฟ และการเช่ารถ

โดยสรุป จากผลสำรวจสะท้อนว่า หลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย คนไทยเริ่มวางแผนเดินทางท่องเที่ยวในประเทศในช่วงที่เหลือของปีนี้ กอปรกับรัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศในช่วงเดือน ก.ค.-ต.ค. 2563 ซึ่งนับเป็นสัญญาณที่ดีต่อตลาดการท่องเที่ยวในประเทศในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ และหากไทยสามารถควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ไม่ให้กลับมาระบาดในประเทศเป็นรอบที่ 2 บรรยากาศการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศน่าจะค่อยๆ กลับมาฟื้นตัว อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังมีมุมมองที่ระมัดระวังต่อทิศทางของตลาดไทยเที่ยวไทย โดยเฉพาะประเด็นด้านกำลังซื้อของผู้บริโภคบางกลุ่มที่ยังอ่อนแอ ขณะที่ความกังวลต่อสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ตลาดไทยเที่ยวไทยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้จะยังไม่สามารถพลิกกลับมาเป็นบวก

มองไปข้างหน้า ธุรกิจยังต้องเผชิญกับปัจจัยท้าทายหลายประการ โดยการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวไทยอย่างค่อยเป็นค่อยไปในกรอบที่จำกัด ส่งผลทำให้เกิดการแข่งขันในธุรกิจที่รุนแรง โดยเฉพาะแรงกดดันต่อการกำหนดทิศทางของราคา ขณะเดียวกันการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการภายใต้สภาวะ New Normal ยังเต็มไปด้วยข้อจำกัดซึ่งจะส่งผลกระทบต่อรายได้และต้นทุนของผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยว ดังนั้น ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวก็จำเป็นต้องปรับรูปแบบการทำตลาด โดยใช้จังหวะที่ภาครัฐออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว อาทิ จัดแพคเกจท่องเที่ยวพิเศษสำหรับผู้ที่ไม่สามารถลงทะเบียนรับสิทธิ์จากมาตรการฯ และการจูงใจให้นักท่องเที่ยวกลับมาใช้บริการอีกครั้ง โดยมีการนำเสนอแพคเกจราคาพิเศษให้กับผู้ที่มาใช้บริการในครั้งต่อไป เป็นต้น นอกจากนี้ คงต้องติดตามรายละเอียดแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมภายใต้วงเงิน 4 แสนล้านบาทที่จะเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมและหนุนการท่องเที่ยวให้มีแรงขับเคลื่อนต่อไป

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it

Written by :
กระแสหุ้นออนไลน์
 

Comments

B
i
u
Quote
Code
List
List item
URL
Name *
Code   
ChronoComments by Joomla Professional Solutions
Submit Comment