อสังหาริมทรัพย์โชว์บทบาทสำคัญในการพัฒนาอาเซียน
Print
Tuesday, 12 June 2012 13:07

 อสังหาริมทรัพย์จะมีบทบาทสำคัญในพัฒนาการที่กำลังดำเนินอยู่ขณะนี้ในกลุ่มประเทศอาเซียน จากการสังเกตการณ์ของโจนส์ แลง ลาซาลล์ โดยนายคริส ฟอสสิค กรรมการผู้จัดการโจนส์ แลง ลาซาลล์ภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า “ในระหว่างการประชุม World Economic Forum on East Asia 2012 ที่เสร็จสิ้นไปเมื่อเร็วๆ นี้ มีตัวแทนอาวุโสทั้งจากภาครัฐฯ และเอกชนของกลุ่มประเทศอาเซียนได้เข้าร่วม ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการยืนยันเจตนารมณ์ที่กลุ่มประเทศอาเซียนจะรวมตัวกันเพื่อความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจในปี 2558 ตามที่วางแผนไว้”




“ประเด็นหนึ่งที่ชัดเจนจากการเสวนาต่างๆ ที่มีขึ้นในระหว่างการประชุม WEF ครั้งนี้ คือ การที่วงการอสังหาริมทรัพย์จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเติบโตและพัฒนาการของกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งนับเป็นโอกาสและความรับผิดชอบที่สำคัญสำหรับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในวงการ ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุน ผู้พัฒนาโครงการ ผู้ถือครองอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์” นายฟอสสิคกล่าว




การประชุม WEF มีคอนเซ็ปต์หลักที่ “การกำหนดอนาคตของภูมิภาคด้วยการเชื่อมโยง” และมีการเสวนาซึ่งเน้นความสำคัญของ “การเชื่อมโยง” ที่จะมีผลต่อความสำเร็จของกลุ่มประเทศอาเซียน ทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ทั้งนี้ โจนส์ แลง ลาซาลล์ได้เลือกประเด็นหลักๆ 10 ประเด็นที่หากมีการวางแผนที่ดีในส่วนที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ คาดว่าจะมีผลต่อความสำเร็จของอาเซียน




1.    การเติบโตของเมือง - การเติบโตของเมืองจะยังคงมีเป็นปัจจัยที่ทำให้ความต้องการหรืออุปสงค์ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัย อาคารสำนักงาน ศูนย์การค้าและโรงแรม มีการขยายตัว โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่มีพัฒนาการน้อยกว่าประเทศอื่นๆ ในอาเซียนด้วยกัน


2.    การพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน - การที่ประเทศและเมืองต่างในกลุ่มอาเซียน มีการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมถึงกันมากขึ้น จะนำไปสู่โอกาสการพัฒนาทางด้านอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นตามมา


3.    กำลังการซื้อ – ประชากรของอาเซียนมีกำลังการซื้อที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะช่วยทำให้อุปสงค์ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัยและศูนย์การค้าขยายตัว


4.    การท่องเที่ยว – ตลาดการท่องเที่ยว สำหรับนักท่องเที่ยวทั้งภายในภูมิภาคและจากต่างภูมิภาค คาดว่าจะยังคงคึกคักต่อไปในช่วงหลายปีข้างหน้า ซึ่งจะทำให้ต้องมีการก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ประเภทโรงแรมและรีสอร์ทขึ้นมารองรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในประเทศที่กำลังพัฒนาดังเช่น พม่าและลาว


5.    ธุรกิจดูแลรักษาสุขภาพ – ประชากรในกลุ่มประเทศอาเซียน ใส่ใจดูแลรักษาสุขภาพมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ต้องมีการก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ประเภทโรงพยาบาลและคลินิกเพิ่มขึ้น


6.    ภาคอุตสาหกรรมและการค้า – การขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมและการค้า จะทำให้อุปสงค์สำหรับอสังหาริมทรัพย์ในภาคอุตสาหกรรม ได้แก่ โรงงาน โกดังสินค้าและศูนย์กระจายสินค้า มีการเติบโตเพิ่มขึ้น


7.    การศึกษา – การให้ความสำคัญต่อการศึกษา จะทำให้มีความต้องการโรงเรียน และวิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัยเพิ่มมากขึ้น


8.    การลงทุน – การพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์และโครงการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน จะเปิดโอกาสให้มีการลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่มีผลตอบแทนการลงทุนสูงเมื่อเทียบกับการลงทุนในภูมิภาคอื่นๆ


9.    กฎหมายการถือครองที่ดิน – กฎหมายการถือครองกรรมสิทธิ์ในที่ดินจำเป็นจะต้องเปิดเสรี เพื่อกระตุ้นการลงทุนและทำให้มีเงินทุนสำหรับการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ทุกประเภท


10. ผู้ประกอบวิชาชีพด้านอสังหาริมทรัพย์ – ในขณะที่การพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์และกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องมีเพิ่มมากขึ้น อาเซียนจะมีความต้องการผู้ประกอบวิชาชีพด้านอสังหาริมทรัพย์เพิ่มมากขึ้น



นางสุพินท์ มีชูชีพ กรรมการผู้จัดการ โจนส์ แลง ลาซาลล์ซึ่งเข้าร่วมรับฟังการเสวนาใน WEF ด้วยเช่นกัน กล่าวว่า  “ข้อแตกต่างสำคัญๆ ในกลุ่มประเทศอาเซียน ได้แก่ กฎหมายการถือครองที่ดินโดยต่างชาติ กฎหมายการประกอบธุรกิจของบริษัทต่างชาติ รวมถึงระบบภาษี ต้องมีการปรับเข้าหากัน ซึ่งหากข้อแตกต่างเหล่านี้ได้รับการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ เชื่อว่า ความสามารถในการแข่งขันกันเองในตลาดอสังหาริมทรัพย์ของประเทศต่างๆ ในกลุ่มอาเซียน จะมีช่องว่างลดลง และเปิดโอกาสให้ทุกประเทศในอาเซียนสามารถได้รับประโยชน์สูงสุดจากโอกาสทางธุรกิจที่จะเกิดขึ้นจากการเชื่อมโยงและความร่วมมือภายในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน”



“ตัวอย่างเช่น นักลงทุนจากประเทศสมาชิกที่มีพัฒนาการมากกว่าในอาเซียน คาดว่าจะมีความมั่นใจมากขึ้นในการเข้าไปลงทุนในตลาดของประเทศที่เพิ่งเริ่มเปิดรับการลงทุนจากต่างชาติมากขึ้น ดังเช่น พม่า ลาว และกัมพูชา ซึ่งยังมีโอกาสทางธุรกิจอยู่มาก ในขณะเดียวกัน ประเทศสมาชิกที่มีพัฒนาการน้อยกว่าเหล่านี้ จะได้รับประโยชน์จากการลงทุนที่เข้ามาได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น รวมถึงการได้รับการถ่ายทอดกระบวนการด้านการประกอบธุรกิจ ความเชี่ยวชาญ องค์ความรู้ และเทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งทั้งหมดนี้ จะเป็นปัจจัยที่ช่วยให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในประเทศเหล่านี้ มีพัฒนาการได้เร็วขึ้น ในขณะเดียวกัน ตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่เข้มแข็งขึ้นของอาเซียน คาดว่าจะทำให้ได้รับความสนใจมากขึ้นในหมู่นักลงทุนจากประเทศและภูมิภาคอื่นๆ นอกกลุ่มอาเซียนด้วย” นางสุพินท์กล่าว

Written by :
กระแสหุ้นออนไลน์
 

Comments

B
i
u
Quote
Code
List
List item
URL
Name *
Code   
ChronoComments by Joomla Professional Solutions
Submit Comment