แนะผู้ว่า กทม ให้ความสนใจภาคอสังหาฯเพื่อเตรียมกรุงเทพฯรับ AEC |
![]() |
Friday, 01 March 2013 22:01 | |||
ในระหว่างที่กรุงเทพมหานครกำลังเตรียมการเลือกตั้งผู้ว่า มีผู้สมัครหลายรายที่ได้กล่าวถึงเจตนารมณ์ที่จะเตรียมกรุงเทพฯ ให้พร้อมรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ในปี 2558 โจนส์ แลง ลาซาลล์นำเสนอประเด็นต่างๆ ด้านอสังหาริมทรัพย์ ที่ผู้ว่า กทม ควรพิจารณา เพื่อเตรียมความพร้อมของกรุงเทพฯ ได้อย่างครอบคลุมมากขึ้นสำหรับรองรับการเปิด AEC
นางสุพินท์ มีชูชีพ กรรมการผู้จัดการ บริษัทที่ปรึกษาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โจนส์ แลง ลาซาลล์ กล่าวว่า “กรุงเทพฯ ค่อนข้างได้เปรียบเมื่อเทียบกับเมืองหลวงของประเทศอื่นๆ ของอาเซียนในหลายๆ ประเด็น อาทิ การมีทำเลที่ตั้งอยู่ในจุดศูนย์กลางของภูมิภาค ระบบสาธารณูปโภคที่ได้รับการพัฒนาต่อเนื่อง การเป็นเมืองที่มีต้นทุนไม่สูงมากนักสำหรับการพักอาศัยและการประกอบธุรกิจ มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ได้คุณภาพมาตรฐานสากล ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม ศูนย์การค้า สถานพยาบาล ตลอดรวมจนถึงสถานศึกษา”
“การเปิด AEC ในปี 2558 น่าจะส่งผลดีต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ของกรุงเทพฯ เนื่องจากการมีข้อได้เปรียบในหลายๆ ด้านดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น โดยเชื่อว่ากรุงเทพฯ มีแนวโน้มที่จะสามารถดึงดูดชาวต่างชาติให้เข้ามาได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุน นักท่องเที่ยว นักเรียน นักศึกษา รวมไปจนถึงผู้ที่ต้องการใช้บริการรักษาพยาบาล ซึ่งทั้งหมดนี้ จะมีส่วนช่วยให้ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ขยายตัว” นางสุพินท์กล่าว
ตัวอย่างเช่น อาคารสำนักงานให้เช่า คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากการเปิด AEC เนื่องจากไทยมีทำเลที่ตั้งอยู่ในจุดศูนย์กลางของอาเซียน จึงมีความเป็นไปได้ว่า จะมีบริษัทต่างชาติจำนวนมากขึ้นที่เลือกกรุงเทพฯ เป็นที่ตั้งสำนักงานประจำภูมิภาค และใช้กรุงเทพฯ เป็นฐานสำหรับการขยายธุรกิจเข้าไปในพม่าและอินโดจีน ซึ่งหมายถึงความต้องการใช้พื้นที่อาคารสำนักงานที่จะเพิ่มขึ้นตามมา ในประเด็นนี้ นอกเหนือจากความได้เปรียบในแง่ของทำเลที่ตั้งแล้ว ตลาดอาคารสำนักงานของกรุงเทพฯ ยังมีค่าเช่าที่ค่อนข้างถูกมากเมื่อเทียบกับเมืองหลวงของประเทศอื่นๆ ในอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ กัวลาลัมเปอร์ หรือแม้แต่พม่า กัมพูชา และฮานอย ซึ่งมีค่าเช่าแพงกว่ากรุงเทพฯ มากเนื่องจากซัพพลายมีน้อย ในขณะที่อาคารคุณภาพระดับมาตรฐานสากลในกรุงเทพฯ มีรองรับอยู่อย่างเพียงพอ
ที่พักอาศัยระดับหรู เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของอสังหาริมทรัพย์ที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากการเปิด AEC ด้วย ทั้งนี้ หากมีบริษัทต่างชาติเข้ามาเปิดสำนักงานในไทยมากขึ้น จะหมายถึงการมีพนักงานในระดับผู้บริหารที่เป็นชาวต่างชาติ พร้อมครอบครัว ย้ายเข้ามาพำนักอาศัยในกรุงเทพฯ มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ความต้องการที่พักอาศัยคุณภาพดีให้เช่าขยายตัว ไม่ว่าจะเป็นอพาร์ตเม้นท์ เซอร์วิสอพาร์ตเม้นท์ และคอนโดมิเนียมระดับหรู แม้กรุงเทพฯ จะมีข้อได้เปรียบในหลายๆ ด้านเมื่อเทียบกับเมืองอื่นๆ ของอาเซียน แต่ยังมีข้อจำกัดบางประการที่ต้องได้รับการปรับปรุง อาทิ
· การจราจรยังคงเป็นปัญหาใหญ่ของกรุงเทพฯ แม้จะมีการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนความเร็วสูงขึ้นมาแล้ว แต่ระบบเหล่านี้ยังครอบคุลมพื้นที่จำกัดและเต็มรูปแบบน้อยกว่าเมื่อเทียบกับเมืองที่พัฒนามากกว่าดังเช่น สิงคโปร์ แม้ขณะนี้จะมีระบบขนส่งมวลชนความเร็วสูงใหม่ๆ อยู่ในระหว่างการก่อสร้างหรือวางแผนหลายโครงการ แต่ความคืบหน้าของโครงการเหล่านี้ ยังถือว่าค่อนข้างช้า
· ปัจจุบัน ประเทศไทยอนุญาตให้ชาวต่างชาติสามารถซื้อคอนโดมิเนียมได้ในสัดส่วนไม่เกิน 49% ของพื้นที่ยูนิตทั้งหมดในอาคาร ในขณะที่โครงการคอนโดมิเนียมระดับท็อปเอ็นด์บางโครงการในกรุงเทพฯ ได้ขายยูนิตที่เป็นสัดส่วนสำหรับชาวต่างชาติไปหมดแล้ว ส่วนยูนิตที่เหลือสามารถขายให้กับผู้ซื้อชาวไทยเท่านั้น ซึ่งนับเป็นข้อจำกัดที่ควรได้รับการพิจารณา โดยเฉพาะในขณะนี้ เริ่มมีชาวต่างชาติจากอาเซียนและประเทศอื่นๆ ในเอเชียให้ความสนใจลงทุนซื้อคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ มากขึ้น
· แม้กรุงเทพฯ จะมีกฎหมายควบคุมอาคารสูงที่มีเนื้อหาค่อนข้างครอบคลุมอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมาจะพบได้ว่า การบังคบใช้กฎหมายดังกล่าวอาจยังไม่เคร่งครัดมากพอ ควรมีการตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับความปลอดภัย นอกจากนี้ กฎหมายบางส่วนที่อาจออกมาภายหลังและไม่ครอบคลุมอาคารสูงที่มีการก่อสร้างเสร็จไปแล้วก่อนหน้า อาทิ กฎหมายการกำหนดให้อาคารต้องมีการติดตั้งระบบสปริงเกอร์ ซึ่งไม่ครอบคลุมอาคารเก่าที่สร้างก่อนปี 2535 หรือกฎหมายกำหนดให้การก่อสร้างอาคารสูงกว่า 23 เมตร หรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษ พื้นที่มากกว่า 10,000 ตารางเมตร โครงสร้างของอาคารจะต้องสามารถรับแรงสั่นสะเทือนที่เกิดจากแผ่นดินไหวได้ ตั้งแต่ 5 ริกเตอร์ขึ้นไป ซึ่งไม่ครอบคลุมอาคารเก่าที่สร้างก่อนปี 2550 ภาครัฐฯ ควรมีมาตรการออกมาเพื่อสร้างหลักประกันว่า อาคารต่างๆ ที่กฎหมายใหม่ครอบคลุมไม่ถึงเหล่านี้ มีความปลอดภัย
· กรุงเทพฯ เริ่มมีการพัฒนาอาคารสูงตามแนวคิดอาคารเขียวให้เห็นบ้างแล้ว แต่ยังถือว่าน้อยมาก กทม กำลังอยู่ในระหว่างวางแผนเตรียมสร้างแรงจูงใจผลักดันให้โครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ใหม่ๆ ใช้แนวคิดอาคารเขียว อย่างไรก็ดี ควรมีการเตรียมมาตรการให้ครอบคลุมอาคารที่สร้างเสร็จไปแล้วแต่ไม่ได้ออกแบบให้เป็นอาคารเขียวตั้งแต่ต้น โดยอาจมีการสร้างแรงจูงใจเพื่อส่งเสริมให้มีการนำมาตรการต่างๆ เข้ามาใช้เพื่อให้อาคารเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อาทิ การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การบำบัดน้ำทิ้ง การรีไซเคิล เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยยกระดับคุณภาพและคุณค่าของอาคารสูงในกรุงเทพฯ ให้เพิ่มมากขึ้นในระดับที่ทัดเทียมหรือเหนือกว่าเมืองอื่นๆ ในอาเซียน ซึ่งจะเป็นข้อได้เปรียบในการแข่งขันด้วย
“สิ่งต่างๆ ที่กล่าวมานี้ บางส่วนอาจไม่ได้อยู่ในอำนาจหน้าที่โดยตรงของ กทม แต่อย่างน้อยที่สุดเราคาดหวังว่า ผู้ว่ากทม ที่กำลังจะได้รับเลือกตั้งเข้ามา จะมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น และเตรียมกรุงเทพฯ ให้มีความพร้อมมากขึ้นในการรับการเปิด AEC” นางสุพินท์สรุป
โจนส์ แลง ลาซาลล์ จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ค เป็นบริษัทบริการมืออาชีพที่มีความเชี่ยวชาญด้านอสังหาริมทรัพย์ โดยให้บริการที่ครบวงจรโดยทีมงานผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกแก่ลูกค้าที่ต้องการคุณค่าสูงสุดจากการเป็นเจ้าของ ใช้ประโยชน์ หรือลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ดำเนินธุรกิจใน 70 ประเทศ ผ่านสำนักงาน 200 สาขา
|
Comments