Error
ขู่ กสทช. ออก“ประกาศห้ามซิมดับ”ผิดม.157
Print
Tuesday, 20 August 2013 21:42

 

             แต่โดนสวนกลับระวังตกเป็นจำเลยเสียเอง เหตุเคลื่อนไหวนอกกติกา แถมใส่ความเท็จให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง

 

                                รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า  เมื่อเร็วๆนี้ นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช. ด้านคุ้มครองผู้บริโภค ได้ทำบันทึกถึง บอร์ด กทค. เพื่อชี้แจงกรณีที่นายประวิทย์  เป็นโต้โผจัดประชุมเพื่อหารือในประเด็นการสิ้นสุดสัญญาสัมปทานการใช้คลื่นความถี่ 1800  MHz  ระหว่างวันที่ 29 - 30 กรกฎาคม 2556  พร้อมกล่าวหา บอร์ด กทค.ไม่เร่งรีบแก้ไขปัญหาการสิ้นสุดสัญญาสัมปทานคลื่น 1800 MHz  อีกทั้งยังออกประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ... (ร่างประกาศห้ามซิมดับ) นั้น  เป็นการกระทำที่เข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

 

                                ทั้งนี้หลังจากที่ นายประวิทย์ ทำบันทึกดังกล่าวถึงบอร์ด กทค.  ก็ปรากฎว่าบอร์ด กทค. ได้ทำบันทึกสวนกลับ และโต้แย้ง ว่า เอกสารของนายประวิทย์ ที่กล่าวหา กทค.ในเรื่องนี้ ไม่เป็นความจริง ขัดแย้งต่อข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นอันน่าจะเข้าลักษณะการใส่ความ กทค. ให้เสียชื่อเสียง  ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ซึ่งหากบุคคลที่สามล่วงรู้ ก็หมิ่นเหม่ต่อการกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326  ซึ่งเป็นความผิดและมีบทลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา โดยการกล่าวหาดังกล่าวมิได้เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต  เนื่องจากนายประวิทย์ ล่วงรู้มาโดยตลอดในฐานะที่เป็นผู้เข้าร่วมประชุม กทค. และ กสทช. ว่า กทค. ได้เตรียมการในเรื่องการสิ้นสุดสัมปทานคลื่น 1800 MHz  มาอย่างต่อเนื่อง และมีผลการดำเนินการที่คืบหน้าตามลำดับ ส่วนการออกประกาศห้ามซิมดับ ก็เป็นมาตรการเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคโดยที่ไม่ได้เอื้อประโยชน์ต่อผู้ประกอบการรายใด ทั้งยังเป็นการดำเนินการที่ตรงไปตรงมาโดยดำเนินการตาม มติของ กทค. และ กสทช. แต่ในทางตรงกันข้าม การไม่ออกประกาศฯ และปล่อยให้ซิมดับจะทำให้เกิดสุญญากาศในช่วงรอยต่อระหว่างการเปลี่ยนผ่านระบบสัมปทานไปสู่ระบบใบอนุญาต ซึ่งจะทำให้ประชาชนเสียประโยชน์ แต่ผู้ประกอบการบางรายได้ประโยชน์ การดำเนินการใดๆ ที่ไม่เป็นไปตามมติ กทค. และ กสทช. ทั้งมีการเคลื่อนไหวนอกกติกา จึงเป็นการกระทำที่ไม่ปกติ ทั้งยังสุ่มเสี่ยงต่อการถูกครหาว่าขาดความเป็นกลาง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าห่วงใยเป็นอย่างยิ่ง โดยเกรงว่าจะกระทบต่อภาพลักษณ์ขององค์กรแล้ว ยังทำให้ นายประวิทย์ อาจเข้าข่ายการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เสียเอง  ซึ่งต่างไปจากการดำเนินการของ กทค. ที่มีหลักฐานชัดเจนว่า กทค. ได้เตรียมการเกี่ยวกับการประมูลคลื่น 1800 MHz อย่างต่อเนื่อง  แต่ละขั้นตอนล้วนสัมพันธ์กันและจำเป็นต้องดำเนินการตามลำดับหรือคู่ขนานกัน มิฉะนั้นจะกระทบต่อประสิทธิภาพในการจัดสรรคลื่น1800 MHz และคลื่นความถี่อื่นๆ 

 

                                หากตรวจสอบข้อวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ ก็จะทราบว่า ผู้ที่ออกมาวิจารณ์ขาดความเข้าใจในด้านเทคนิคและไม่ได้รับข้อมูลในส่วนรายละเอียดต่างๆ ในส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งบางกลุ่มยังมีบทบาทที่ไม่เห็นด้วยและเคลื่อนไหวคัดค้านผลการประมูล 3 จี ซึ่งการประมูล 3 จี เป็นขั้นตอนที่สำคัญยิ่งอันนำไปสู่การประมูลคลื่น 1800 MHz เพราะหาก 3 จี ไม่เกิด การประมูลคลื่น 1800 MHz ย่อมไม่เกิด การขัดขวางการประมูล 3 จี ย่อมเท่ากับเป็นการขัดขวางการประมูล 4 จี หรือ คลื่น 1800 MHz  ถ้าประมูล 3 จี ช้า การประมูล จี ก็ย่อมช้าออกไปอีก แต่ภายหลัง เมื่อประมูล 3 จี สำเร็จแล้ว ต้องให้ระบบ 3 จี  เดินได้ก่อน ก่อนที่จะประมูล 4 จี ถ้าฐานรากยังไม่เข้มแข็งหรือยังอ่อนแอ การประมูลคลื่น 1800 MHz  เพื่อนำไปสู่การให้บริการ 4 จี ย่อมล้มเหลว

 

                                ฉะนั้น การกล่าวหาตามที่ นายประวิทย์ อ้างเป็นการให้ข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง ทำให้ กทค. และองค์กรเสียหาย ขณะที่ กทค. ต้องเร่งกอบกู้ภาพพจน์จากการที่นายประวิทย์ออกมาให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อเมื่อต้นปี2556ว่าปัญหาซิมดับเป็นเรื่องที่อาจเกิดขึ้นได้และให้ผู้ใช้บริการเร่งโอนย้าย จนทำให้เกิดความแตกตื่น เป็นเหตุทำให้ กทค. ต้องออกมาประกาศจุดยืนไม่เห็นด้วยที่จะยอมให้ซิมดับและต่อมาได้กำหนดมาตรการห้ามซิมดับ ดังนั้นจึงไม่เป็นธรรมอย่างยิ่งที่จะกล่าวหาว่า กทค. ไม่ได้ดำเนินการอะไรในเรื่องนี้ เพราะผู้ที่เกี่ยวข้องย่อมทราบดีว่า กทค. ทั้ง 4 คน ทำงานหนักแค่ไหนในการเตรียมการเพื่อนำไปสู่การจัดสรรคลื่นความถี่ 1800  MHz  ในขณะที่ นายประวิทย์ มักจะมีความเห็นในแนวทางที่แตกต่าง และถ้าที่ประชุม กทค. ไม่เห็นด้วยและมีมติไม่สอดคล้องตามความคิดของนายประวิทย์ ก็จะออกไปเคลื่อนไหวภายนอกองค์กร หลายครั้งได้สื่อความหมายออกไปในลักษณะที่แตกต่างกับมติที่ประชุม กทค. ทำให้เกิดความเข้าใจผิดและ กทค. ทั้ง4 คน ได้รับความเสียหาย

 

                                ในบันทึกของ กทค.ดังกล่าวยังระบุด้วยว่า การคิดและมีความเห็นทางกฎหมายแตกต่างกันเป็นเรื่องปกติ ซึ่งแน่นอนมุมมองของ กสทช. ในฐานะที่เป็น regulator และเป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อผลของการตัดสินใจย่อมต้องมีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่ต้องดำเนินการเกี่ยวกับคลื่นความถี่เพื่อประโยชน์สาธารณะและจะต้องดำเนินการในอำนาจหน้าที่ โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนเป็นหลัก  ซึ่งต่างจากนักวิชาการที่แสดงความเห็นตามความเข้าใจและภูมิความรู้ที่มีและข้อมูลที่ได้รับ แต่ไม่มีหน้าที่ความรับผิดชอบเช่นเดียวกับ กสทช. อย่างไรก็ตาม หากเปิดใจกว้างก็จะทราบว่ามีนักกฎหมายเป็นจำนวนมากที่เห็นด้วยกับแนวทางการออกประกาศห้ามซิมดับของ กทค. ส่วนนายประวิทย์ จะไม่เห็นด้วยก็เป็นสิทธิที่สามารถมีความเห็นแตกต่างได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้ที่เห็นแตกต่างจาก นายประวิทย์ และนักกฎหมายกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับนายประวิทย์ จะเป็นผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งเมื่ออ่านบทความและความเห็นของนักกฎหมายกลุ่มนี้แล้วก็สามารถโต้แย้งในความไม่สมเหตุสมผลของการวิจารณ์อย่างไม่มีวันจบสิ้น แต่สุดท้ายเมื่อบอร์ดตัดสินมีมติอย่างไร ไม่ว่านายประวิทย์จะชอบหรือไม่ ก็ต้องผูกพันตามมติของบอร์ดตามหลักความรับผิดชอบร่วมกัน

 

                                ในขณะที่ ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ กสทช.ด้านกฎหมาย  เปิดเผยว่า ในบทบาทของ กสทช. นั้นควรใช้และตีความกฎหมายเพื่อประโยชน์ของประชาชนเป็นหลักมิใช่มุ่งใช้และตีความกฎหมายโดยตั้งโจทย์ที่ข้อจำกัดของกฎหมายเป็นหลัก และใช้กฎหมายเคร่งครัดตามลายลักษณ์อักษรโดยไม่ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ในการหาทางออกจนทำให้เป็นการจำกัดสิทธิของประชาชน ตนเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ในกรณีที่สัญญาสัมปทานฯจะสิ้นสุด ซึ่งไม่สามารถต่อสัญญาสัมปทานได้ โดยผลของกฎหมายทำให้ผู้ใช้บริการต้องเดือดร้อนจึงจำเป็นต้องตัดสินด้วยความรอบคอบและใช้กฎหมายให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน โดยเมื่อ กสทช.ใช้ดุลพินิจที่เห็นว่าดีที่สุดและเป็นธรรมที่สุดแก่ประชาชนแล้วเห็นชอบร่างประกาศนี้เป็นกฎหมาย ผู้มีส่วนได้เสียที่ไม่พอใจก็สามารถใช้สิทธิร้องต่อศาลปกครองคัดค้านร่างประกาศนี้ได้เช่นกัน ซึ่งตรงนี้ถือเป็นกระบวนการอันชอบธรรมตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ แต่บุคคลที่ไม่เห็นด้วยย่อมไม่มีเหตุทางกฎหมายที่จะไปฟ้อง กสทช.ว่าปฎิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบได้ เพราะ กสทช.ดำเนินการภายใต้กรอบการใช้ดุลพินิจตามกฎหมาย ในมุมกลับกันหากร่างประกาศซิมห้ามดับ ถูกสกัดกั้นและไม่สามารถใช้เป็นเครื่องมือทางกฎหมายเพื่อป้องกันสภาวะสูญญากาศในช่วงที่สัญญาสัมปทาน 1800 MHz สิ้นสุดลง จนเกิดปรากฎการณ์ซิมดับ และสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ใช้บริการที่มีอยู่จำนวน 17-18 ล้านคน  ซึ่งกลุ่มที่กระทำให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวก็มีความสุ่มเสี่ยงอย่างมากที่จะถูกผู้ใช้บริการ     17-18 ล้านคน ใช้สิทธิเข้าชื่อถอดถอนหรือฟ้องดำเนินคดีทางกฎหมายได้เช่นเดียวกัน

Written by :
กระแสหุ้นออนไลน์
 

Comments

B
i
u
Quote
Code
List
List item
URL
Name *
Code   
ChronoComments by Joomla Professional Solutions
Submit Comment