Forgot your password? Create an account
  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
News

Stockwave Online กระแสหุ้นออนไลน์ หุ้น หลักทรัพย์ การเงิน ข่าวเศรษฐกิจ

Home Economic View คาดการณ์ผลประกอบการแบงก์ไตรมาส 2/2553...รายได้หลักขยับลง
คาดการณ์ผลประกอบการแบงก์ไตรมาส 2/2553...รายได้หลักขยับลง PDF Print E-mail
Tuesday, 13 July 2010 10:16

หลังจากที่ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยรายงานกำไรสุทธิที่ออกมาสูงกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ในไตรมาส 1/2553 รวมถึงสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) และไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) ถึง 28.0% และ 18.1% ตามลำดับนั้น  ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ในเบื้องต้นว่า ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในไตรมาส 2/2553 มีโอกาสที่จะแสดงกำไรสุทธิ ที่ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) ประมาณ 3.1-14.1% มาที่ระดับประมาณ 2.4-2.7 หมื่นล้านบาท ถึงแม้ว่าน่าจะยังสามารถรักษาอัตราการเติบโตจากปีก่อน (YoY) ได้ในหลักทศนิยมสองตำแหน่ง หรือประมาณ 11.6-25.9% ก็ตามหากพิจารณาเฉพาะรายรับจากธุรกิจหลัก ซึ่งรวมรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ และรายได้ค่าธรรมเนียมนั้น คาดว่าจะมีระดับที่ค่อนข้างทรงตัว ถึงลดลงเล็กน้อยจากที่ทำได้ 9.62 หมื่นล้านบาทในไตรมาสแรกของปี 2553 มาที่ประมาณ 9.48-9.65 หมื่นล้านบาท หลังจากขาดปัจจัยหนุนดังเช่นที่ปรากฏในไตรมาสแรก และเศรษฐกิจหดตัวจากปัญหาเหตุรุนแรงทางการเมือง  ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้สรุปประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลทางการเงินของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในไตรมาส 2/2553

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่า ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (Net Interest Margin: NIM) ของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในไตรมาส 2/2553 น่าจะอยู่ในกรอบประมาณ 3.35-3.39% ซึ่งลดลงจากไตรมาส 1/2553 ประมาณ 6-10 จุด (bps.)  ในทำนองเดียวกัน รายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลสุทธิ คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 7.07-7.16 หมื่นล้านบาท ซึ่งแม้ว่าจะเติบโตประมาณ 7.9-9.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) แต่ก็เป็นอัตราที่ชะลอลงจาก 11.3% ในไตรมาส 1/2553 โดยมีสาเหตุที่สำคัญ คือ

    ปัจจัยที่ช่วยประหยัดต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายลดน้ำหนักลงจากในไตรมาส 1/2553 โดยในไตรมาส 1/2553 ต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายแท้จริง (Effective Deposit Cost) จากเงินฝาก ปรับตัวลดลง 6 จุด (ถึงแม้เงินฝากในภาพรวมของไตรมาสดังกล่าว จะเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 4/2552 อยู่ก็ตาม) เนื่องจากมีเงินฝากประจำพิเศษที่ให้อัตราดอกเบี้ยสูง ครบกำหนดค่อนข้างหนาแน่นในช่วงระหว่างไตรมาส 1/2553 ดังกล่าว ซึ่งส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์สามารถรับรู้ต้นทุนที่ต่ำลงจากไตรมาส 4/2552 ได้  ขณะที่ การครบกำหนดของเงินฝากประจำพิเศษในไตรมาส 2/2553 แม้ว่าจะยังมีอยู่ แต่ก็น่าจะลดลงจากในไตรมาสแรกของปี ซึ่งน่าจะหมายความถึงโอกาสในการประหยัดต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายที่น้อยกว่าตามไปด้วย

    การขาดแรงบวกจากเงินปันผลของกองทุนรวมวายุภักษ์ 1 ดังเช่นในไตรมาส 1/2553 (จ่ายเงินปันผลทุกๆ ไตรมาส 1 และ 3) ซึ่งหมายความถึงรายรับที่จะหายไปกว่า 1 พันล้านบาทต่อไตรมาส

    สินเชื่อที่เติบโตดียังน่าจะมาจากสินเชื่อภาครัฐ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อเช่าซื้อที่ให้อัตราผลตอบแทนค่อนข้างต่ำโดยเปรียบเทียบ  ทั้งนี้ ในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาส 2/2553 ธนาคารพาณิชย์ไทยสามารถปล่อยสินเชื่อได้ดีกว่าที่คาด ท่ามกลางความเสี่ยงทางการเมืองในประเทศที่อยู่ในระดับสูง โดยสินเชื่อ (Gross Loans) เติบโต 1.02 แสนล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับ 1.03 แสนล้านบาท ในไตรมาส 1/2553 อันสะท้อนถึงความเป็นไปได้ที่สินเชื่อในไตรมาส 2/2553 อาจเติบโตสูงกว่าในไตรมาส 1/2553 (หากไม่ถูกถ่วงลงอย่างมีนัยสำคัญจากการชำระคืนหนี้ของรัฐบาล หลังจากที่ได้รับเงินจากการออกพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็งในเดือนมิถุนายน 2553)  แต่ก็เป็นที่น่าสังเกตว่า ยอดปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ที่ถือหุ้นใหญ่โดยรัฐ ยังมีส่วนแบ่งตลาดสูงถึงประมาณ 24% ของสินเชื่อปล่อยใหม่รวม ขณะที่ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยก็ยังน่าจะขยายตัวได้ในระดับสูงไม่หนีไปจากช่วงไตรมาสแรกนัก ตามแรงหนุนช่วงโค้งสุดท้ายของการต่ออายุมาตรการอสังหาฯ ของภาครัฐ  เช่นเดียวกับสินเชื่อเช่าซื้อ ที่ได้แรงบวกจากยอดขายยานยนต์ในระดับสูงต่อเนื่อง หลังจากการจัดงานมอเตอร์โชว์ในช่วงปลายเดือนมีนาคม ต่อเนื่องมาถึงช่วงต้นเดือนเมษายน 2553

ทั้งนี้ สินเชื่อทั้ง 3 กลุ่มดังกล่าว แม้ในภาพรวมแล้วจะครองส่วนแบ่งตลาดเกือบ 30% ของทั้งหมด แต่ก็เป็นกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนต่ำกว่าสินเชื่อประเภทอื่นๆ เช่น สินเชื่อที่ให้กับธุรกิจเอสเอ็มอี สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล เป็นต้น  ดังนั้น ปัจจัยดังกล่าว ผนวกกับการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดเงินให้สินเชื่อ จึงยังอาจจำกัดโอกาสการปรับขึ้นของผลตอบแทนแท้จริงจากเงินให้สินเชื่อ (Effective Lending Yields) ในไตรมาส 2/2553 ตามไปด้วย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ในเบื้องต้นว่า รายได้ค่าธรรมเนียมรับในไตรมาส 2/2553 น่าจะอยู่ที่ประมาณ 2.4-2.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งทรงตัวถึงปรับตัวลดลงเล็กน้อย จากที่ทำได้ 2.51 หมื่นล้านบาทในไตรมาส 1/2553 โดยประเภทรายได้ค่าธรรมเนียมรับที่อาจมีแรงส่งที่ลดลงจากไตรมาสแรกได้แก่ ค่าธรรมเนียมรับจากธุรกิจบัตร และค่าธรรมเนียมจากการโอนเงิน/เรียกเก็บเงิน ซึ่งน่าจะได้รับผลกระทบจากการใช้จ่ายและปริมาณธุรกรรมทางการเงินที่ลดลง จากจำนวนวันทำการที่ลดลงและความวิตกกังวลที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่เกิดเหตุรุนแรงทางการเมือง  รวมถึงค่าธรรมเนียมจาก Bancassurance ที่แม้น่าจะยังขยายตัวอยู่ในระดับสูง แต่ก็อาจลดความแรงจากไตรมาส 1/2553 อันเป็นช่วงที่ธนาคารพาณิชย์และบริษัทประกันรุกตลาดอย่างหนัก จนดันให้เบี้ยประกันภัยรับโดยรวมผ่านช่องทาง Bancassurance  เพิ่มขึ้นถึง 54.99% จากปีก่อน (YoY) และดันส่วนแบ่งตลาดของการขายประกันชีวิตผ่านช่องทางดังกล่าว เพิ่มอย่างชัดเจนจาก 26.1% ในปี 2552 มาที่ 31.8% ในไตรมาส 1/2553 สวนทางกับการขายประกันผ่านช่องทางอื่นๆ ที่ลดน้ำหนักลง

การหดตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในไตรมาส 2/2553 จากปัญหาการเมือง คาดว่าจะเป็นตัวแปรหลักที่อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพของพอร์ตสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยโดยรวม จนอาจนำมาสู่เอ็นพีแอลของธนาคารพาณิชย์หลายแห่ง และระบบที่เพิ่มขึ้นจาก 5.0% ต่อสินเชื่อรวม ณ สิ้นไตรมาส 1/2553 ได้  
อย่างไรก็ตาม คาดว่า การเพิ่มขึ้นของเอ็นพีแอลดังกล่าว จะมีจำนวนไม่มากนัก เนื่องจากผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาส่วนใหญ่ น่าจะยังสามารถชำระดอกเบี้ยได้อยู่  อีกทั้ง ระยะเวลาการค้างชำระหนี้ที่เข้าข่ายนับเป็นเอ็นพีแอลนั้น จะต้องมีกำหนดเกิน 90 วัน อันหมายความว่ากว่าผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาการขาดสายป่านทางธุรกิจ จะเลื่อนชั้นจากหนี้ปกติมาเป็นเอ็นพีแอล น่าจะเป็นในช่วงไตรมาส 3-4 ของปีนี้มากกว่า ซึ่งเมื่อถึงระยะเวลานั้น สถานการณ์เอ็นพีแอลในภาพรวม อาจได้รับการชดเชยจากการปรับโครงสร้างหนี้ในเชิงรุกของธนาคารพาณิชย์ และภาวะเศรษฐกิจที่ค่อยๆ ฟื้นตัว ตลอดจนแผนการขายหนี้เสียของธนาคารพาณิชย์บางแห่ง อันน่าจะช่วยให้ระดับหนี้เสียดังกล่าว ลดลงได้ในช่วงปลายปี 2553  
กระนั้นก็ดี คาดว่าปัญหาคุณภาพหนี้ที่ถดถอยลงในระยะสั้นนี้ น่าจะสะท้อนผ่านสัดส่วนสินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ (มีการค้างชำระหนี้มากกว่า 30 วันแต่ไม่เกิน 90 วัน) ต่อสินเชื่อรวม ตลอดจน Impaired Loans (รวมหนี้ปรับโครงสร้างและเอ็นพีแอล) ที่น่าจะปรับตัวไปในทิศทางที่สูงขึ้น  ปัจจัยดังกล่าว อาจกระตุ้นให้ธนาคารพาณิชย์บางแห่ง พิจารณาใช้นโยบายการตั้งสำรองหนี้สูญฯ ในเชิงที่ระมัดระวังมากขึ้น อันอาจทำให้ค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองหนี้สูญฯ ของทั้งระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในไตรมาส 2/2553 มีโอกาสเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากในไตรมาส 1/2553

โดยสรุป  สำหรับในไตรมาส 2/2553 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยอาจรายงานกำไรสุทธิ (ไม่รวมกำไรจากการขายหุ้นของธนาคารพาณิชย์) ที่ปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) อันเป็นผลจากรายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลรับสุทธิที่ลดความสดใสลง สอดคล้องกับส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่คาดว่าจะขยับลงประมาณ 6-10 จุด มาที่ 3.35-3.39% หลังจากขาดปัจจัยหนุนจากการครบกำหนดของเงินฝากประจำพิเศษที่ให้อัตราดอกเบี้ยสูงและเงินปันผลจากกองทุนรวมวายุภักษ์ ดังเช่นที่ปรากฏขึ้นในไตรมาส 1/2553 ขณะที่ แม้สินเชื่อจะเติบโตได้ดีเหนือความคาดหมาย โดยที่ไม่ได้รับผลกระทบที่ชัดเจนจากปัญหาการเมือง แต่การเพิ่มขึ้นของสินเชื่อดังกล่าว ก็น่าจะยังโน้มเอียงไปยังสินเชื่อประเภทที่ให้ผลตอบแทนค่อนข้างต่ำโดยเปรียบเทียบ   นอกจากนี้ รายได้ค่าธรรมเนียมหลายประเภท ยังน่าจะได้รับผลกระทบจากกิจกรรมการใช้จ่ายและการทำธุรกรรมทางการเงินที่ชะลอลง ท่ามกลางจำนวนวันทำการที่ลดลง และความวิตกกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับเหตุรุนแรงทางการเมืองในช่วงระหว่างไตรมาสอีกด้วย  ขณะที่ ปัจจัยลบเดียวกันนี้ อาจนำมาสู่เอ็นพีแอลที่อาจขยับขึ้นได้เล็กน้อย

กระนั้นก็ดี ท่ามกลางแนวโน้มเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่เหลือของปีนี้ ที่น่าจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น จากความเสี่ยงทางการเมืองที่ลดระดับลงและหากความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจต่างประเทศไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบันมากนักนั้น  คาดว่าธุรกิจหลักของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ก็คงทยอยปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้นเช่นกัน อันน่าจะทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของไตรมาส 2/2553 เป็นจุดต่ำสุด (Bottom) ของปีนี้ แต่ทั้งนี้ ขีดความสามารถในการทำกำไรดังกล่าว จะปรับตัวดีขึ้นอย่างรวดเร็ว หรือมากน้อยเพียงใดนั้น ก็ยังขึ้นกับขนาดของแรงส่งจากเศรษฐกิจ ตลอดจน การปรับทิศของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และการดูดซับสภาพคล่องของ ธปท. ซึ่งจะมีอิทธิพลอย่างมากต่อจังหวะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก-เงินให้กู้ยืมของธนาคารพาณิชย์ รวมถึงการขับเคลื่อนความสามารถในการทำกำไรของระบบธนาคารพาณิชย์ในภาพรวม









Written by :
พิราบขาว
 

Comments

B
i
u
Quote
Code
List
List item
URL
Name *
Code   
ChronoComments by Joomla Professional Solutions
Submit Comment
 
 

Login

Forgot your password? Create an account
mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterToday1071
mod_vvisit_counterAll days1071

We have: 1070 guests online
Your IP: 216.73.216.238
Mozilla 5.0, 
Today: Jul 15, 2025

4168208