Forgot your password? Create an account
  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
News

Stockwave Online กระแสหุ้นออนไลน์ หุ้น หลักทรัพย์ การเงิน ข่าวเศรษฐกิจ

Home All News เก็บมาเล่า ธณพงศ์ มีทอง มองบทเรียน CSP
ธณพงศ์ มีทอง มองบทเรียน CSP PDF Print E-mail
Monday, 21 December 2009 12:11

ความเคลื่อนไหวราคาหุ้น บริษัท ซีเอสพี สตีลเซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CSP ที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง 5 วันทำการ (14 ธ.ค.-21ธ.ค.52)  โดยวันที่ 14 ธ.ค. 52 ราคาหุ้น CSP ปิดที่ 4.06 บาท เปรียบเทียบกับราคาต่ำสุดของวันนี้ (21 ธ.ค.52) อยู่ที่ 2.52  บาท คิดเป็นลดลง 1.54 บาท หรือ 37.93% ราคาใบสำคัญแสดงสิทธิในการซื้อขายหุ้นสามัญ หรือ CSP-W1 ก็ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง 6 วันทำการ (11 ธ.ค.-21 ธ.ค.52)  โดยวันที่ 11 ธ.ค. ราคาหุ้น CSP-W1 ปิดที่ 0.91 บาท เปรียบเทียบกับราคาต่ำสุดของวันนี้(21 ธ.ค.52) ที่ 0.52 บาท คิดเป็นลดลง 0.39 บาท หรือ 42.85%

            "คำถาม" นี่เป็นบทเรียนได้หรือไม่ กับการปล่อยข่าวให้นักลงทุนติดกับดัก ไล่ซื้อหุ้นจากข่าวที่ไม่เป็นความจริง การลากแล้วทุบโดยขาดข้อมูลความจริง หรือบางข้อมูลที่คิดว่า "ข่าวลือมักจะเป็นจริง" ก็เป็นอีกเหตุผลที่พาให้นักลงทุนที่ไม่รู้วิธีการเล่นหุ้นของรายใหญ่เป็นอย่างไร เลยพาให้เข้าซื้อ เข้าร่วมกันไล่ราคา จนท้ายที่สุดก็โดนทุบจนกระอักเลือด หมดเงินไปไม่รู้เท่าไหร่

            ย้อนอดีตของหุ้น CSP นับแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2552 ราคาหุ้นขณะนั้นอยู่ที่ 2.24 บาท วอลุ่มแทบไม่มีเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแคบๆ นี้จนกระทั่งวันที่ 1 ธันวาคม 2552 ผู้บริหาร "วีรศักดิ์ ชัยสุพัฒน์" กรรมการผู้จัดการ ได้ให้ข่าวว่า ในปี 2553 ตั้งเป้ารายได้ขยายตัว 15-20% จากปีนี้ที่คาดว่าจะทำได้ 2,500 ล้านบาท เพราะได้รับปัจจัยบวกจากภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว ประกอบกับภาครัฐมีการลงทุนในโครงการไทยเข้มแข็งและราคาเหล็กเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น

            หลังจากข่าวนี้ออกไปวันแรก ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น วันที่ 2 ราคาหุ้นดีดตัวจาก 2.20 ได้ปรับตัวขึ้นไปสูงสุดถึง 2..70 บาท ก่อนจะมาปิดตลาดที่ราคา 2.62 บาท วันที่ 3 ธันวาคม 2552 ผู้บริหารมีการชี้แจงข่าวเรื่อง จะสามารถทำรายได้สำหรับปี 2552 ได้จำนวน 2,500 ล้านบาท ว่าเป็นเพียงแค่การประมาณการของบริษัทฯซึ่งอาจขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆภายนอกที่อาจจะกระทบต่อบริษัทฯ ก่อนจะมีข่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้บริษัทฯมีพัฒนาการที่ดีขึ้น จากการลงทุนในส่วนของเครื่องจักรและโรงงานใหม่ ซึ่งคาดว่าจะสามารถพัฒนาศักยภาพของสินค้าให้มีความหลากหลายมากขึ้น และสามารถรองรับปริมาณการสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นมากได้ รวมไปจนถึงราคาเหล็กในปี 2553 เริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น บริษัทฯ จึงคาดว่าจะมีการเติบโตของรายได้และมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น ข่าวนี้ทำให้ราคาหุ้น จากราคาเปิด 2.80 บาท พุ่งขึ้นไปสูงถึง 3.40 บาท และปิดในราคานี้ในวันนั้น

            วันที่ 4 ธันวาคม 2552 ราคาหุ้นเปิดที่ 3.54 และมีการทำราคาต่ำสุดที่ 2.80 บาท ก่อนจะตีขึ้นไปสูงสุดที่ 3.70 บาท แล้วมาปิดที่ 3.22 บาท วอลุ่มการซื้อขายเริ่มมากขึ้น วันที่ 8 เป็นวันเปิดวันแรกหลังจากตลาดปิดวันหยุดติดต่อกัน 3 วัน และสัปดาห์ดังกล่าวตลาดหุ้นซื้อขายแค่ 3 วันทำการ ราคาหุ้นเปิดตลาดที่ 3.22 บาท ต่ำสุดที่ 3.12 บาท และราคาสามารถขยับขึ้นไปสูงสุดได้แค่ 3.24 บาท ท้ายที่สุดแล้วมาปิดที่ 3.14 บาท วอลุ่มเริ่มบางๆ

            วันที่ 9 และ 11 เป็น 2 วันที่นักลงทุนหันมามองหุ้นตัวเล็ก และมีประเด็น ทำให้มีแรงซื้อหนุนให้ราคาหุ้นตัวจาก 3.06 บาท แล้วไปปิดที่ 3.46 วันที่ 11 ราคาดีดตัวจาก 3.50 ขึ้นไปสูงสุดที่ 3.90 บาท ก่อนจะลงมาปิดที่ 3.86 ทั้งสองวันนี้ วอลุ่มเริ่มเข้า หยุดอีก 2 วัน วันจันทร์เปิดมาราคา 3.86 บาท ขยับขึ้นไปสูงสุด 4.12 บาท ก่อนจะปิดที่ 4.06 บาท วอลุ่มเริ่มเยอะขึ้น จนวันที่ 15 ธันวาคม ราคาหุ้นเปิดที่ 4.04 บาท ขึ้นไปสูงสุดได้แค่ 4.10 บาท ก่อนจะลงมาเปิดตลาดที่ 3.50 บาท แต่รอบนี้แม้วอลุ่มหนา แต่สัญญาเชิงลบเริ่มมีมากขึ้น วันที่ 16-17 ธันวาคม 2552 วอลุ่มเริ่มนิ่ง ราคาเริ่มนิ่งๆ เคลื่อนไหวไม่มาก อยู่ในกรอบแคบๆ 3.50-3.60 บาท หมดข่าวที่จะลากให้หุ้นขึ้น

            วันที่ 18 ธันวาคม 2552 ก็มีข่าวออกมาทางหน้าหนังสือพิมพ์ "ทันหุ้น" ว่า บริษัท ซีเอสพี สตีลเซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) จะมีบริษัท ไชน่า สตีลเข้าซื้อหุ้นบริษัทฯ มากถึงร้อยละ 49 แต่ผู้บริหารก็ออกมาปฏิเสธว่า ข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง บริษัทฯ ยังไม่มีการตกลงการซื้อหุ้นในเรื่องดังกล่าว ทำให้มีแรงถล่มขายหุ้นจำนวนมาก ราคารูดจาก 3.68 ลงมาเหลือแค่ 2.82 บาท ด้วยวอลุ่มที่หนาตา กระทั่งล่าสุดวันนี้ก็มีแรงขายออกมาอย่างต่อเนื่อง แต่ก่อนหน้านั้น ก็ได้มีการปล่อยข่าวทำนองนี้ออกมาเช่นกัน โดยโยงใยความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทและพันธมิตรทางธุรกิจจากประเทศจีน แม้ว่าเรื่องการลงทุนจะได้ชะลอออกไปก็ตามแต่พันธมิตรรายดังกล่าวได้เข้ามาลงทุนซื้อหุ้นของบริษัทในนามส่วนตัวมาตั้งแต่ปี 2551 จนถึงประมาณต้นปี 2552 มากกว่า 1 ล้านหุ้น

            แม้จะเป็นการเล่นกันในช่วงสั้นๆ ไม่กี่วัน แต่ลักษณะของการเล่นในลักษณะนี้ ก่อให้เกิดผลเสียต่อนักลงทุนมากมาย เป็นอีกหนึ่งบทเรียนของข่าวที่ไม่มีความชัดเจน และแน่นอนว่า ข่าวลักษณะดังกล่าว เป็นการออกมาเพื่อหวังผลเรื่องราคาหุ้น และทำเพื่อต้องการออกของ โดยอาศัยในช่วงจังหวะที่ตลาดปลอดข่าวดี และกำลังต้องการข่าวที่เข้ามากระทบกับตัวหุ้น โดยหวังว่าข่าวเรื่องการซื้อหุ้นจากจีน จะเป็นสตอรี่ต่อไป โดยดูจากการให้สัมภาษณ์ของผู้บริหาร ที่ยังยืนยันว่า บริษัทยังมีสัมพันธ์ที่ดี และเรื่องการลงทุนชะลอออกไป ก็ไม่ได้หมายความเด็ดขาดว่า จะไม่มีการขายหุ้น แต่ปรากฎว่า ข่าวนี้ไม่ได้สร้างให้สตอรี่ของ CSP ได้เดินหน้าต่อ จนถึงวันนี้ถือว่าจบข่าวเรื่องนี้แล้ว แต่สิ่งที่ทิ้งไว้ก็คือ ความเจ็บช้ำของนักลงทุน เพราะราคาหุ้นได้รูดลงมาต่ำกว่าราคาหุ้นเริ่มต้นเมื่อวันแรก คือ ราคาประมาณ 2.50 บาท

            อย่างไรก็ตาม ในบรรดาหุ้นที่มีข่าวทำนองนี้ ยังมีอีกหลายราย ทั้งเรื่องพันธมิตรใหม่ ผู้ร่วมทุน ยังเป็นข่าวที่ได้รับความสนใจ และเป็นข่าวที่นักลงทุนให้ความสนใจเสมอ เพราะข่าวดังกล่าว ล้วนแล้วแต่สร้างความฮือฮาให้กับนักลงทุนได้ทุกครั้ง ถึงแม้จะทิ้งไว้ด้วยรอยเจ็บปวด กับเงินที่ต้องเสียไป และไม่สามารถหาคนรับผิดชอบได้ นอกจากนักลงทุนต้องรับผิดชอบตัวเอง

            ในมุมมองของผม "ธณพงศ์ มีทอง" ข่าวทำนองนี้เกิดจากการสร้างข่าว และสร้างสตรอรี่เพื่อผลักดันราคาหุ้นเท่านั้น โดยไม่มีปัจจัยพื้นฐานใดๆ รองรับ แม้ไตรมาส 3 บริษัทจะมีกำไรบ้าง แต่งบ 9 เดือนก็ยังขาดทุน แม้จะไม่มากนัก คือประมาณ 11 ล้านบาท แต่ภาพรวมๆ แล้วถือว่า พื้นฐานของบริษัทน่าจะดี เพราะทำธุรกิจหลักเป็น “Steel Service Center” หรือศูนย์บริการเหล็กครบวงจร มีลักษณะเป็นการให้บริการในการผลิตแปรรูป ปรึกษา และจัดหาผลิตภัณฑ์เหล็ก (Steel Solution) โดยจัดรูปแบบของสินค้าตามความต้องการของลูกค้า ธุรกิจหลักของบริษัทมีการดำเนินการแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 

            1. ศูนย์บริการเหล็ก คือ การจำหน่ายเหล็กม้วน (Rolled) ทั้งชนิดรีดเย็น (Cold-Rolled) และรีดร้อน (Hot-Rolled) และรับตัด และจำหน่ายเหล็กแผ่น (Plate) เหล็กม้วน (Slitting  Coil) ตามขนาดที่ลูกค้ากำหนด

            2.ผลิตและจำหน่ายเหล็กรูปพรรณ ได้แก่ ท่อเหล็กรีดเย็น  กำลังการผลิตปัจจุบันประมาณ 20,280 ตันต่อปี สามารถผลิตท่อเหล็กรีดเย็นที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 0.375 นิ้ว ถึง 2.0 นิ้วขนาดความหนาตั้งแต่ 0.5 มิลลิเมตร ถึง 3.2 มิลลิเมตร ความยาวมาตรฐาน 6 เมตร และตามความยาวตามที่ลูกค้าต้องการสูงสุดไม่เกิน 8 เมตร  โดยบริษัทเน้นการผลิตตามคำสั่งซื้อของลูกค้า (Made to Order)  เพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น  โดยมีสัดส่วนรายได้จากการจำหน่ายเหล็กรูปพรรณคิดเป็นประมาณร้อยละ 4.64 ของรายได้รวม

            จากการชี้แจงของบริษัท ที่อ้างว่า 9 เดือนที่ขาดทุนนั้น มาจากสภาวะเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ชะลอตัวมาก ทำให้ราคาขายและปริมาณการสั่งซื้อลดลงอย่างมาก มีผลต่อรายได้รวมของบริษัทฯ โดยในงวด 9 เดือน มีการปรับลดลงร้อยละ 48.96 เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน แต่ปัญหาคือราคาเหล็กที่ลดลง แสดงให้เห็นถึงการเก็บสต๊อกเหล็ก โดยขาดการจัดการที่ดี จะทำให้บริษัทขาดทุนจากการลดลงของมูลค่าสินค้าที่ผิดพลาดเป็นจำนวนเงินสูงถึง 215.57 ล้านบาท และจากปี 2551 บริษัทฯ ก็มีปัญหานี้ ทำให้ต้องรับรู้ผลขาดทุนสูงถึง 225.67 ล้านบาท

            ดังนั้น ไม่ว่ามองในมุมไหนในธุรกิจของเหล็ก หากจัดการเรื่องสต็อกสินค้าไม่เหมาะสม จะส่งผลให้ขาดทุนทันที เพราะราคาเหล็กเป็นสินค้าโภคภัณฑ์เคลื่อนไหวตามแรงเก็งกำไรของนักลงทุนในตลาดโลก การจัดการที่ไม่เหมาะสม จะส่งผลให้บริษัทขาดทุน และกำไรได้เช่นเดียวกัน การลงทุนในหุ้นกลุ่มเหล็กจึงต้องเลือกบริษัทที่เหมาะสม เพื่อป้องกันความเสี่ยงอันอาจจะเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ และควรหลีกเลี่ยงข่าวที่อาจจะส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นด้วยเช่นกัน

---------------------------------------------

Written by :
Nike_mand
 

Comments

B
i
u
Quote
Code
List
List item
URL
Name *
Code   
ChronoComments by Joomla Professional Solutions
Submit Comment
 

Login

Forgot your password? Create an account
mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterToday719
mod_vvisit_counterAll days719

We have: 719 guests online
Your IP: 216.73.216.145
Mozilla 5.0, 
Today: Jul 05, 2025

4068912