ดัชนีดาวโจนส์ปิดร่วงลง299.24จุด |
![]() |
![]() |
![]() |
Wednesday, 28 February 2018 07:51 | |||
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดเมื่อคืนนี้ (27 ก.พ.2661) ที่ 25,410.03 จุด ร่วงลง 299.24 จุด หรือ -1.16% ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 7,330.35 จุด ลดลง 91.11 จุด หรือ -1.23% และดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,744.28 จุด ลดลง 35.32 จุด หรือ -1.27% หลังจากนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้แถลงต่อสภาคองเกรสสหรัฐเมื่อวานนี้ โดยส่งสัญญาณว่าเฟดอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 4 ครั้งในปีนี้ ทั้งนี้ ถ้อยแถลงของนายพาวเวลส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐพุ่งขึ้น และสร้างแรงกดดันต่อบรรยากาศการซื้อขายในตลาด ตลาดหุ้นนิวยอร์กร่วงลงหลังจากนายพาวเวลได้กล่าวตอบข้อซักถามจากคณะกรรมาธิการบริการการเงินประจำสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐเมื่อวานนี้ โดยนายพาวเวลระบุว่า เฟดมีแผนปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีนี้ และอาจมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นเป็น 4 ครั้ง หลังจากมีการใช้มาตรการด้านการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งรวมถึงการปรับลดอัตราภาษี และการเพิ่มการใช้จ่ายของรัฐบาล นายพาวเวลยังได้แสดงมุมมองที่เป็นบวกต่อภาวะเศรษฐกิจของสหัฐ โดยระบุว่าตลาดแรงงานและการใช้จ่ายของผู้บริโภค ยังคงมีความแข็งแกร่ง ขณะที่ค่าจ้างมีการเพิ่มขึ้นในอัตราเร่งตัว นอกจากนี้ นายพาวเวลเชื่อว่า เงินเฟ้อจะดีดตัวขึ้นในปีนี้ โดยจะมีเสถียรภาพที่ระดับ 2% ในระยะกลาง ถ้อยแถลงของนายพาวเวลส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐประเภทอายุ 10 ปี ดีดตัวสู่ระดับ 2.923% และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลประเภทอายุ 30 ปี ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 3.194% เมื่อคืนนี้ โดยการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรจะส่งผลให้ต้นทุนการกู้ยืมของบริษัทเอกชนปรับตัวขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการซื้อขายในตลาดหุ้น นอกจากนี้ การเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรยังลดความน่าดึงดูดในตลาดหุ้นเช่นกัน ตลาดหุ้นนิวยอร์กยังได้รับแรงกดดันจากรายงานของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐซึ่งระบุว่า ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐ เช่น เครื่องบิน รถยนต์ และเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่มีอายุการใช้งานตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป ดิ่งลง 3.7% ในเดือนม.ค. ซึ่งเป็นการทรุดตัวลงมากที่สุดในรอบ 6 เดือน โดยได้รับผลกระทบจากการปรับตัวลงของคำสั่งซื้อเครื่องบินพาณิชย์ สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์/เคส ชิลเลอร์ระบุว่า ดัชนีราคาบ้านทั่วประเทศในสหรัฐพุ่งขึ้น 6.3% ในเดือนธ.ค. เมื่อเทียบรายปี จากระดับ 6.1% ในเดือนพ.ย. โดยได้แรงหนุนจากอุปสงค์ที่แข็งแกร่ง และภาวะสต็อกบ้านในระดับต่ำ ขณะที่ผลสำรวจของ Conference Board ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐทะยานขึ้นสู่ระดับ 130.80 ในเดือนก.พ. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2543 จากระดับ 124.30 ในเดือนม.ค. ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆของสหรัฐที่จะมีการเปิดเผยในสัปดาห์นี้ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 4/2560 (ประมาณการครั้งที่ 2), ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (pending home sales) เดือนม.ค., ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนม.ค., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือนก.พ.จากมาร์กิต, ดัชนีภาคการผลิตเดือนก.พ.จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) และการใช้จ่ายด้านการก่อสร้างเดือนม.ค.
|
![]() | Today | 1027 |
![]() | All days | 1027 |
Comments