DEMCO มั่นใจผลงานปี62เป็น positive |
![]() |
![]() |
![]() |
Friday, 11 January 2019 10:40 | |||
นายพงษ์ศักดิ์ ศิริคุปต์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.เด็มโก้ (DEMCO) เปิดเผยว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานปี 62 ยังเป็น positive ทั้งในส่วนของรายได้และกำไรสุทธิ แม้ว่าในปีนี้จะยังคงได้รับผลกระทบจากค่าใช้จ่ายพิเศษในส่วนค่าเสียโอกาสการขายไฟฟ้าจากการหยุดซ่อมแซม (Lost of production) โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมห้วยบงจากการซ่อมแซมฐานเสากังหันที่เหลือ 26 ต้นที่บริษัทเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง คาดว่าค่าใช้จ่ายดังกล่าวจะไม่มากนัก ขณะที่บริษัทมีปริมาณงานในมือ (Backlog) ณ สิ้นเดือน พ.ย.61 อยู่ที่ระดับ 2.84 พันล้านบาท ซึ่งจะทยอยรับรู้รายได้ตั้งแต่ไตรมาส 4/61 และส่วนใหญ่ราว 2 พันล้านบาทจะรับรู้ฯ ภายในปีนี้ และยังจะรับรู้เงินปันผลรับจากธุรกิจการลงทุนที่เป็นผู้ถือหุ้นในโครงการห้วยบง ประมาณ 160 ล้านบาท/ปีต่อเนื่องด้วย ทั้งนี้ บริษัทเตรียมเข้าซ่อมแซมฐานเสากังหันที่เหลือตั้งแต่ไตรมาสแรกปีนี้ และคาดว่าจะแล้วเสร็จในปลายไตรมาส 2 ถึงต้นไตรมาส 3 ปีนี้ ซึ่งทำให้ต้องบันทึกค่าใช้จ่ายพิเศษในส่วนค่าเสียโอกาสดังกล่าวจำนวนหนึ่ง แต่คาดว่าจะไม่มากเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้านี้ เนื่องจากการหยุดซ่อมแซมครั้งนี้จะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีแรก ซึ่งไม่ใช่ช่วงพีคของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม "งบทั้งปี 62 ยังเป็น positive แม้จะมีรายการพิเศษเกิดขึ้น แต่ผลการดำเนินงานของ DEMCO ยังมาจาก 2 ส่วนคือ construction และปันผลรับจากการลงทุนห้วยบง ปีละ 160 ล้านบาท ส่วน operation ก็ตาม Backlog ที่มีที่จะทยอยรับรู้เป็นรายได้ ซึ่งในปีนี้ก็มีประมาณ 2 พันล้านบาท และเรายังจะมีโอกาสได้งานประมูลใหม่ ๆ เพิ่มเติมจากงานประมูลที่จะออกมาในปีนี้ด้วย"นายพงษ์ศักดิ์ กล่าว อนึ่ง ผลการดำเนินงาน DEMCO ในช่วง 9 เดือนแรกปี 61 มีกำไรสุทธิ 191.22 ล้านบาท และมีรายได้รวม 3.49 พันล้านบาท ขณะที่ในปี 60 มีกำไรสุทธิ 65.59 ล้านบาท และมีรายได้รวม 4.48 พันล้านบาท นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า บริษัทยังมองตลาดกลุ่มงานรับเหมาก่อสร้างด้านวิศวกรรมไฟฟ้า ระบบไฟฟ้าในปีนี้ ค่อนข้างทรงตัวเมื่อเทียบกับปีก่อน และยังมีโอกาสที่ดีต่อเนื่องในช่วง 3-4 ปีข้างหน้า แม้ว่าในขณะนี้รัฐบาลจะยังไม่รับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในอีก 8 ปีข้างหน้า รวมถึงความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีค) ก็ไม่มากนัก หลังมีการผลิตของโรงไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เอง (IPS) เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก แต่ในช่วงนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะยังมีการก่อสร้างสถานีไฟฟ้า (Substation) และสายส่ง เพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่รัฐบาลรับซื้อก่อนหน้านี้ทยอยเข้าระบบ บริษัทประเมินว่าในช่วง 3-4 ปี กฟผ.จะยังคงมีงานประมูลสร้างสถานีไฟฟ้า และสายส่งปีละ 1 หมื่นล้านบาท ขณะที่ในปีนี้ ก็ยังมีงานประมูลของสถานีไฟฟ้า ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ราว 7 พันล้านบาท/ปี และการนำสายไฟฟ้าลงดิน ของกฟภ.ราว 2.8 พันล้านบาท/ปี ขณะที่การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ยังมีงานโครงการนำสายไฟฟ้าลงดิน ที่ออกมาต่อเนื่องด้วย ซึ่งในส่วนนี้บริษัทก็ทยอยเข้ายื่นประมูลงานและคาดว่าจะทยอยรับรู้ผลประมูลได้ตั้งแต่ในช่วงไตรมาส 1/62 ทั้งนี้ ในระยะยาวบริษัทก็ได้เตรียมแผนงานรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น โดยมีแผนจะขยายงานระบบสายไฟเบอร์ออปติค ธุรกิจสื่อสาร และการขยายธุรกิจพลังงานหมุนเวียน โดยมองโอกาสในส่วนของการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป ซึ่งจะแบ่งงานเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนแรกงานรับเหมาก่อสร้าง (EPC) ที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้างขนาด 1.2 เมกะวัตต์ มูลค่ากว่า 50 ล้านบาท ให้กับโรงงานแห่งหนึ่ง ซึ่งจะแล้วเสร็จในเดือนมี.ค.-เม.ย. และยังได้เจรจาเพื่อหาลูกค้าในส่วนงานนี้เพิ่มเติม ,ส่วนที่สอง เป็นการร่วมทุน โดยจะแบ่งผลประโยชน์จากการประหยัดค่าไฟฟ้าที่เกิดขึ้น และส่วนที่สาม บริษัทเป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด ซึ่งการประหยัดค่าไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจะตัดทอนมาจ่ายคืนบริษัทในรูปค่าก่อสร้าง
|
![]() | Today | 876 |
![]() | All days | 876 |
Comments